กรมปศุสัตว์ย้ำอหิวาต์แอฟริกาในหมู
ไม่ติดต่อคน-สัตว์ชนิดอื่น
กรมปศุสัตว์ย้ำอย่ากังวล อหิวาต์แอฟริกาในหมู ไม่ติดต่อคน-สัตว์ชนิดอื่น และยังไม่ระบาดมาไทย ผลความร่วมมือทุกภาคส่วน เตรียมออกประกาศห้ามนำเข้าหรือพกพาเนื้อสัตว์หรือสินค้าทำจากเนื้อหมูจากจีน ที่มีโรคระบาดเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 ระบุประกาศแล้ว 2 ครั้ง พร้อมร่วมมือฝ่ายทหารคุมเข้มสกัดตามชายแดน
น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรว่า ปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มุ่งป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาติดต่อหมูในประเทศ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงด้านอาหาร โดยกรมปศุสัตว์ได้ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันบูรณาการทำงานพร้อมยกระดับการป้องกันโรคให้แน่นหนายิ่งขึ้น เพื่อเตรียมออกประกาศห้ามนักท่องเที่ยวนำเข้าหรือพกพาเนื้อสัตว์ และสินค้าที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์โดยเฉพาะจากหมูที่มาจากจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดของโรค ไม่ให้เข้ามาในประเทศได้อย่างเด็ดขาด
“ขอย้ำกับประชาชนว่าอย่ากังวล เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อคนหรือสัตว์ชนิดอื่น โดยเกิดเฉพาะในหมูเท่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่เข้ามาในเมืองไทย อย่างไรก็ตามในช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำอาหารที่มีส่วนประกอบของหมูเข้ามาด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวจึงต้องเข้มงวดตรวจสอบยิ่งขึ้น โดยในทุกสนามบินเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มจำนวนสุนัขบีเกิล ทำการตรวจสัมภาระของผู้โดยสารให้มีความถี่มากขึ้น ที่สำคัญกรมฯเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อยกระดับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติในเร็วๆนี้” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศห้ามนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์มา 2 ครั้ง รวมเป็นเวลา 180 วัน นับจากพบการระบาดในจีนเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 พร้อมร่วมมือกับฝ่ายทหาร จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ด่านกักกันสัตว์ทุกด่าน และสนามบินทุกแห่ง ในการตั้ง 50 ด่านทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์และเข้มงวดการฆ่าเชื้อที่อาจจะแฝงมากับยานพาหนะของนักท่องเที่ยว จากเดิมที่ใช้คลอรีนผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ เปลี่ยนเป็นยาฆ่าเชื้อแบบโฟมที่สามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นานกว่า 30 นาที
ขณะเดียวกันยังร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และภาคมหาวิทยาลัยทั้งจุฬาลงกรณ์และมหิดล ในการสกัดกั้นโรคนี้ ควบคู่กับการให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศ และยกระดับการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ ระบบการปฏิบัติการทางเกษตรที่ดี ทั้ง GAP (Good Agricultural Practice) และ GFM (Good Farm Management) ที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการอยู่ เพื่อป้องกันโรคอย่างสูงสุด