ก.พลังงานหนุนเพิ่มรายได้เกษตรกร
เดินหน้าระบบอบแห้งพลังงานแสงฯ
ก.พลังงาน พร้อมเดินหน้าระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ พาราโบล่าโดม ชูสร้างงานสร้างรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ชี้จากเริ่มโครงการปี 54 – 61 ติดตั้งแล้ว 256 ระบบ ครอบคลุมพื้นที่อบแห้งรวม 30,417.9 ตารางเมตร เกิดผลประโยชน์รวม 66 ล้านบาท/ปี พร้อมลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 4,942 ตัน/ปี วางเป้าหมายปี 69 ติดตั้งระบบได้ถึง 75,000 ตารางเมตร ต่อยอดการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและยกคุณภาพชีวิตเกษตรกรต่อเนื่อง
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการสัมมนาโครงการเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ปี 2561 และการจัดตลาดนัดสินค้าอบแห้งจากพาราโบล่าโดม เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทางเลือกในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และร่วมกันขยายผล และส่งเสริมการใช้งานระบบอบแห้งฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้ช่วยให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกิดการใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในการลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่นแก๊ส ไฟฟ้า หรือน้ำมัน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าที่สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเกิดคุณภาพในระดับพรีเมี่ยม
โดยโครงการฯ (ตั้งแต่ปี 2554 – 2561) ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการใช้งานระบบอบแห้งฯ รวม 256 ระบบ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 30,417.9 ตารางเมตร เป็นจำนวนเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ประมาณ 102 ล้านบาท เกิดการเงินลงทุนรวม 340 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการใช้งานอบแห้งผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด อาทิ กล้วยตาก ข้าวแต๋น ผัก ผลไม้อบแห้ง ถั่วลิสงอบแห้ง แมคคาเดเมีย ลูกเดือย งา เครื่องเทศ สมุนไพร ชา กาแฟ เนื้อสัตว์ ปลา อาหารทะเล อาหารเสริมสุขภาพจากมังคุด และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ใช่อาหารเช่น ลูกประคบ อาหารสุนัข หมอนยางพารา และกากของเสียที่ได้ภายหลังจากการผลิตก๊าซชีวภาพ เป็นต้น
ด้านผลที่ได้รับจากโครงการ ฯ เกิดผลประโยชน์รวม 66 ล้านบาทต่อปี จากการประหยัดเชื้อเพลิง 4 ล้านบาทต่อปี ลดความเสียหายผลิตภัณฑ์ 22 ล้านบาทต่อปี เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 40 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 4,942 ตัน/ปี รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น การลดการสูญเสียผลิตผลทางการเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยลดระยะเวลาในการทำแห้ง สามารถทำแห้งได้ในฤดูฝน ลดต้นทุนด้านพลังงาน เพิ่มคุณภาพสินค้า ตลอดจนเกิดแหล่งเรียนรู้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แปรรูปสินค้าเกษตรหลายแห่ง
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เบื้องต้น พพ. ได้วางเป้าหมายในการให้การสนับสนุนเงินลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งฯ ถึงปี พ.ศ. 2569 ซึ่งจะสามารถขยายพื้นที่ติดตั้งระบบอบแห้งฯ ได้ประมาณ 75,000 ตารางเมตร
โดยนอกจากการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานครั้งนี้แล้ว พพ. ได้จัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปเกี่ยวกับระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ แนวทางการส่งเสริมการใช้งานระบบฯ และการใช้งานระบบฯอย่างถูกต้อง ตลอดจนจัดให้มีการออกร้านค้าผลิตภัณฑ์อบแห้งจากพาราโบล่าโดมระหว่างวันที่ 4 – 5 ก.พ.นี้ ณ โถงอาคาร C ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ถ.วิภาวดี กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีร้านค้ามาร่วมออกร้าน และแบ่งปันประสบการณ์การใช้งานระบบฯ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์อบแห้งที่หลากหลายเช่น กล้วยตาก กล้วยติดหนึบ ข้าวแต๋น เนื้อแห้ง แมคคาเดเมีย กาแฟ มะม่วงกวน ผลไม้อบแห้ง หมอนยางพารา ถั่วลิสงอบแห้ง น้ำมันมะพร้าว และสมุนไพร เป็นต้น