สสส.-สช. ร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน
เปิด10 จ.นำร่องแก้ 30จุดเสี่ยงถนน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดกิจกรรม“Thailand Big move Road Safety” เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุสู่เส้นทางถนนปลอดภัย ณ ลานสวนเพลิน กรุงเทพฯ โดย สสส.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และภาคีเครือข่าย ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงพลังเครือข่ายภาคประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ภาคประชาชนร่วมเป็นกำลังในการช่วยสอดส่องดูแลให้ถนนปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดจากจังหวัดนำร่องจุดเสี่ยงกลายเป็นถนนปลอดภัย 4 ภาค 4 พื้นที่
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายรวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาและสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในบ้านเรา มีองค์ประกอบหลักสำคัญ 3 อย่าง คือ คน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “คน” ดูจะเป็นปัญหาสำคัญ เพราะจากการวิเคราะห์ของทางฝ่ายวิชาการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ ล่าสุดปี 2561 มีการออกใบสั่งจำนวน 11,734,415 ใบ และมีจำนวนผู้ชำระค่าปรับเพียง 18% และยังพบว่า คนไทยมีใบสั่งซ้อนสูงสุด144 ใบใน 1 ปี ซึ่งเป็นรถขนส่งของภาคเอกชน เห็นได้ชัดว่า บ้านเรายังต้องทำงานกับเรื่องการปรับพฤติกรรมอีกมาก
ในส่วนของ“ถนน” บ้านเรามีถนนที่อยู่ในความดูแลของหลายหน่วยงาน ซึ่งยังนับว่ามี “จุดเสี่ยง” อยู่มาก ถ้าหากประชาชนได้เข้ามาร่วมชี้จุดเสี่ยง คอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้หน่วยงานรัฐ/หน่วยงานเจ้าของถนน ได้ดำเนินการแก้ไข ก็จะช่วยได้มาก เพราะทางวิชาการชี้ว่า องค์ประกอบของสาเหตุอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น 27% เกิดจากถนนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือ “จุดเสี่ยง” (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย) เริ่มจากตรงนี้ร่วมกัน ลามไปจนช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆ ต่อไป
ด้านนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการลดปัญหาอุบัติเหตุมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราต้องวางมาตรการ สร้างโมเดลเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เน้นแนวร่วมจากภาคประชาชน จากภาคีเครือข่าย ดึงท้องถิ่นเข้ามาช่วย ที่ผ่านมาเราได้จัดทำโครงการคนเห็นคน โดยใช้แนวคิดที่ว่า “เปลี่ยนจากคนเกาะรั้วมาเป็นนักแสดง” หรือที่เรียกว่าเปลี่ยนคนดู มาเป็นนักแสดง ทำให้เขาได้เข้ามามีบทบาท คิดวิเคราะห์ เกิดการมีส่วนร่วมประชุมแลกเปลี่ยน หาจุดอ่อนจุดแข็ง และจากจุดเล็กๆที่คนกลุ่มนี้เอาใจมาเชื่อมกัน ก็จะกลายเป็นภาพใหญ่ ประสานหน่วยงานที่มีอำนาจนำไปขยายผล เช่น มหาดไทย ปภ. ทางหลวง ตำรวจ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด จึงนำมาสู่โครงการ “Thailand Big move Road Safety”
“คิดแบบบ้านๆ เลยก็คือ การหาไอเดียของคนในชุมชน ชาวบ้านว่าเขาอยากทำอะไร ซึ่งจากคนเล็กคนน้อยนี่แหละ จะสามารถลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหา นำองค์ความรู้ไปขยายผล ต้องชื่นชมให้กำลังใจกัน แม้มันจะไม่สำเร็จในเร็วๆนี้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ท้าท้าย และได้เห็นพลังของสังคมในการตื่นตัว เริ่มจาก 10 จังหวัด แก้ไขได้ 30 จุดเสี่ยง ขยายไปเรื่อยๆ ใน 283 อำเภอเสี่ยง และภายในปีนี้คาดว่าจะครบทั้ง 77 จังหวัด
จึงอยากเชิญประชาชน มาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยกัน มาร่วมเป็นเครือข่าย Thailand Big Move for Road Safety เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน”นายแพทย์พลเดช กล่าว
ฝ่ายนางสาวอังคณา ขาวเผือก เลขาชมรมเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงติดอันดับ3 เมื่อปี61พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นนับพันครั้ง เสียชีวิตกว่า100 ราย จุดเสี่ยงอยู่ที่อำเภอเมือง และอำเภอบางพลี เนื่องจากเป็นถนนใหญ่เลนกว้างเชื่อมต่อกันหลายจุด และเต็มไปด้วยแหล่งนิคมอุตสาหกรรม การใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะรถบรรทุก จึงมีจำนวนมาก จากปัจจัย คน ถนน รถ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายชุมชน ช่วยกันคิดหาแนวทางลดอุบัติเหตุ ผ่านโครงการคนเห็นคน ขยายไปยังพื้นที่นำร่อง ตำบลสำโรงเหนือ แพรกษา บางปู เช่น ในซอยวัดด่าน ถนนจะแคบไม่มีไหล่ทาง ไม่มีการแบ่งเลนถนน รถจักรยานยนต์ รถบรรทุกวิ่งจำนวนมาก ทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย จากนั้นก็เริ่มวางแผน สานพลัง ช่วยกันทำขีดสีตีเส้น ทำป้ายเตือน และเร็วๆนี้เทศบาลจะเข้ามาดูแลในเรื่องทำพื้นผิดถนนใหม่ ดังนั้นความสำเร็จครั้งนี้เริ่มจากประชาชนช่วยกันทำแบบพี่แบบน้อง ไม่ใช่เป็นการสั่ง ช่วยคนละไม้ละมือ สุดท้ายปัญหาจะค่อยๆลดลงได้
ขณะที่ นายธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล หรือ แก๊ป ดารานักแสดง กล่าวว่า ตนเคยมีประสบการณ์การเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สมัยวัยรุ่นก็กำลังซ่า นั่งรถไปกับเพื่อน ซิ่งบนถนนที่มีรถหนาแน่น เพื่อนเป็นคนที่ขับรถเร็ว กึ่งๆ ขับแข่ง ขับโชว์ จนถึงจังหวะตรงทางม้าลาย หักหลบไม่พ้น เลยเข้าไปชนฟุตบาทอีกฝั่งหนึ่ง ที่เป็นเลนสำหรับรถเมล์ โชคดีมากที่ไม่มีรถผ่านมา ไม่งั้นคงเจ็บหนัก
นอกจากนี้ตนยังเคยประสบอุบัติเหตุที่ขับรถด้วยตัวเองเช่นกัน คือการหลับใน เพราะว่าล้าจากการเรียน รู้สึกตัวอีกทีก็ตอนชนแล้ว แต่โชคดีที่เหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่มีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรง
“จากหลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผมระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน ผมต้องมีสติมากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการขับรถ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราต้องเช็คตัวเอง เช็คคนอื่น ดูความพร้อมทั้งหมด โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่ สสส. สช. ดึงประชาชนมาร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน และมาถูกทาง เพราะประชาชนในพื้นที่จะช่วยสอดส่องดูแล และคนในพื้นที่จะทราบรายละเอียดภายในพื้นที่เกิดอุบัติเหตุ หรือสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้อยู่แล้ว นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังจะช่วยในการลดอุบัติเหตุ และเป็นโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือส่วนรวม ช่วยเหลือสังคมได้เป็นอย่างดี” นายธนเวทย์ กล่าว