อปท.-กสศ.ชูท้องถิ่นเสมอภาคศึกษา
ปฏิรูประบบเงินอุดหนุนนร.นำร่อง10จ.
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(อปท.) กระทรวงมหาดไทย ลงนามความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัดอปท. และโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาใน 10 จังหวัดนำร่อง ปีการศึกษา 2562 โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียน เข้าร่วมกว่า 150 คน
นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกสศ.ในครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูปแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับท้องถิ่น แต่ผลลัพธ์ปลายทางจะนำไปสู่ทางออกของประเทศ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรม ได้แก่ ระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาค (iSEE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาค และการติดตามนักเรียนผลการสนับสนุนนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้การจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ สะดวกและยกระดับการทำงานของสถานศึกษาสังกัดอปท. ครู ในการคัดกรอง ติดตามนักเรียนเป็นรายบุคคล ตรงตามสภาพปัญหา โดยเฉพาะนักเรียนด้อยโอกาสและกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดนอกระบบ อีกทั้งระบบนี้ยังช่วยลดภาระงานเอกสารและการจัดการข้อมูลของครูและผู้บริหารสถานศึกษา ขณะที่สถานศึกษาในสังกัดอปท. ยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลนี้ พัฒนาคุณภาพนักเรียนได้ในระยะยาว
“โครงการนี้ก่อให้เกิดการปฏิรูปกลไก การจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ การมีเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนและกลไกตรวจสอบหลายระดับจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทั้งแก่ นักเรียน ผู้ปกครอง และสังคม เป็นโครงการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนก้าวต่อไปที่จะเกิดขึ้น ใน3 ปีนั้น คือ อปท.จะสนับสนุนการค้นหา บันทึกข้อมูล ตรวจสอบและรับรองข้อมูลผลการคัดกรองกลุ่มเด็กปฐมวัย นักเรียนในระบบ นอกระบบที่ยากจนและด้อยโอกาส เพื่อเป็นข้อมูลให้กสศ.นำไปค้นหาเด็กกลุ่มนี้ต่อไป” นายทวี กล่าว
ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(ขวา) กล่าวว่า โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัดอปท.เป็นการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3โดยกสศ. จัดสรรเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดสนับสนุนให้แก่นักเรียนกลุ่มนี้มาก่อน เพื่อบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน ลดความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา
โดยในปีการศึกษา 2562 จะมีโรงเรียนในสังกัด อปท.เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 377 แห่ง ใน10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นนทบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี สุราษฎร์ ภูเก็ต ยะลา ภายใต้การจัดสรรเพิ่มเติม1,000 บาท/คน/ภาคเรียนในระดับอนุบาล-ประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองความยากจนของนักเรียน โดยมีกลไกการตรวจสอบหลายระดับเพื่อสร้างความมั่นใจทั้งแก่นักเรียน ผู้ปกครองและสังคมว่า เงินอุดหนุนนี้จะสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังเดือดร้อนที่สุดได้อย่างแท้จริง อย่างโปร่งใส่ และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนที่สุด10% แรกของประเทศ มีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน (เทียบกับรายได้) ในสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนในชั้นรายได้อื่น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าเครื่องแบบ ค่าสมุด/หนังสือ/อุปกรณ์การเรียนอื่น และค่าเดินทางไปเรียน ซึ่งโดยเฉลี่ยครัวเรือนทั่วไปที่ส่งบุตรหลาน 1 คน เข้าเรียนยังโรงเรียนรัฐ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีค่าใช้จ่ายตกคนละ5,000 –12,000 บาทต่อคนต่อปี หากประเมินครัวเรือนที่มีฐานะยากจนที่สุดมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน คิดเป็นร้อยละ 23-52 ของรายได้ ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนในชั้นรายได้อื่นๆ สะท้อนให้เห็นภาระค่าใช้จ่ายที่ครัวเรือนยากจนต้องแบกรับจึงเป็นสาเหตุให้ทุกๆปีมีเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาในที่สุด โดยปัจจุบันเรามีเด็กเยาวชนอายุ 3-18 ปีที่อยู่นอกระบบการศึกษาประมาณ 670,000 คน
“การอุดหนุนทางการเงินแบบมีเงื่อนไขของ กสศ. มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียนกลุ่มนี้เพื่อป้องกันมิให้หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระยะยาว จากประสบการณ์ในโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนอย่างมีเงื่อนไขที่ กสศ.ดำเนินการร่วมกับ สพฐ. ในปีการศึกษา 2561 ช่วยให้โรงเรียนสังกัด สพฐ. ได้รับเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้น จากหลักเกณฑ์เดิม จำนวน 21,983 โรง คิดเป็น 74.37% และมี โรงเรียนในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีนักเรียนยากจนที่ได้รับจัดสรรช่วยเหลือเต็ม100% จำนวน 388 โรงเรียน จากเดิมที่โรงเรียนเหล่านี้จะได้รับการจัดสรรจะได้เพียงร้อยละ 30-40 ของจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในปีการศึกษาหน้าสถานศึกษาสังกัด อปท. จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ตรงตามความต้องการที่แท้จริงเป็นรายบุคคลทุกโรงเรียนอย่างแท้จริง” ดร.ไกรยส กล่าว
ด้านนายศิวรัตน์ พายุหะ ผอ.รร.ราษฏร์บำรุงธรรม จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 265 คน และในกลุ่มดังกล่าวเป็นนักเรียนยากจน 117 คน ที่ผ่านมาโรงเรียนได้มีการดูแลนักเรียนในกลุ่มนี้ตามที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ต้องยอมรับว่างบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอ ดังนั้น เงินอุดหนุนจากทางกองทุน กสศ. เข้ามาช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตของเด็กยากจน และเด็กยากจนพิเศษได้ดีมากขึ้น เพราะถึงจะมีเด็กยากจนพิเศษเพียง 15 คนที่สภาพครอบครัวลำบากมาก แม้แต่ที่นอนก็ยังไม่มี ได้รับเงินอุดหนุน ไม่ได้ครอบคลุมเด็กทุกคนเนื่อง แต่ก็ช่วยให้เด็กยากจนพิเศษ มีคุณภาพชีวิต มีกำลังใจในการมาเรียนหนังสือ
“เงินจำนวนหนึ่งที่ทางกองทุน กสศ. ได้มอบให้แก่เด็กยากจนพิเศษ เป็นเงินที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจอยากให้เขามาเรียนหนังสือ มาโรงเรียน ซึ่งเด็กหลายคนที่ได้รับเงินกองทุน นอกจากช่วยเรื่องค่าอาหารกลางวัน ค่ากิจกรรมเขาแล้ว ยังช่วยแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวเขาด้วย หลายคนนำเงินไปซื้อข้าวสารให้ครอบครัว ดังนั้น อยากให้กองทุนกสศ. ขยายความช่วยเหลือเด็กยากจน เด็กยากจนพิเศษมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้นได้ เมื่อเด็กอิ่มท้อง ครอบครัวมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เด็กก็พร้อมที่จะเรียนรู้ และอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น” นายศิวรัตน์ กล่าว
ฝ่ายนายสถาปนา ธรรมโมรา ปลัดเทศบาลตำบลเขาโจด จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าทุกพื้นที่ทุกจังหวัดล้วนมีปัญหาความยากจนมากน้อยแตกต่างกันออกไป ซึ่งในพื้นที่ที่ตนดูแลนั้น มีปัญหาความยากจนค่อนข้างมาก ยิ่งขณะนี้เข้าสู่ภาวะหน้าแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอ การทำเกษตรยากลำบากขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี รายได้น้อยลงแต่รายจ่ายมากขึ้น ทำให้ปัญหาความยากจนเพิ่มสูงขึ้น ในพื้นที่จึงมีเด็กยากจนค่อนข้างมาก โดยที่ผ่านมา ทางท้องถิ่นได้พยายามร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน ในการช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก และชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น ให้มีชีวิตที่ดี มีรายได้ที่เหมาะสม มีอาชีพ ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งการหาทุนการศึกษา การปลูกฝังการเรียนหนังสือ การมีงานทำ การอดออม เป็นต้น เพราะงบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอในการช่วยเหลือคนในชุมชนได้อย่างเพียงพอ
“กองทุน กสศ. ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตของเด็กยากจนและเด็กยากจนพิเศษได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กหลายคนในพื้นที่ เมื่อไม่มีเงินก็ไม่ได้มาเรียนหนังสือ หรือต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ดังนั้น เงินที่ได้รับจากกองทุน ถึงจะไม่เพียงพอในการช่วยเหลือเด็กยากจนทุกคนได้ แต่ก็ได้ช่วยเด็กกลุ่มหนึ่ง ช่วยครอบครัวกลุ่มหนึ่งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเด็กหลายคนเมื่อได้เงินส่วนนี้ ทำให้เขามีเงินจ่ายค่ากิจกรรม ค่าอุปกรณ์ และได้ช่วยเหลือครอบครัว อยากให้กองทุน กสศ. ช่วยเหลือขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กยากจนของประเทศไทย ที่มีจำนวนมาก เพื่อลดปัญหาเด็กหลุดจากโรงเรียนเนื่องจากความยากจน” นายสถาปนา กล่าว