วช.มอบรางวัลสิ่งประดิษฐ์อุดมศึกษา
แรงจูงใจปั้นนวัตกรรมใช้ประโยชน์
วช.ได้จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอุดมศึกษา ประจำปี 2562 เพื่อส่งเสริมการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้แก่กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจในการเขียนข้อเสนอโครงการและพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถพัฒนาผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ รวมถึงมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ซึ่งหลังจากการอบรมบ่มเพาะ มีทีมนักประดิษฐ์สายอุดมศึกษาโดยส่งข้อเสนอโครงการรวมถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมประกวดในกิจกรรมผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2562 ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562” ระหว่างวันที่ 7 – 10 เมษายน 2562 รวมจำนวนทั้งสิ้น 129 ผลงาน
กิจกรรมดังกล่าวได้กำหนดกลุ่มเรื่องสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จำนวน 4 กลุ่มเรื่อง ดังนี้ กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร จำนวน 36 ผลงาน กลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 35 ผลงาน กลุ่มการพัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปะและการออกแบบ 39 ผลงานและกลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม จำนวน 19 ผลงาน
ทั้งนี้จากการพิจารณาคัดเลือกตามกระบวนการมอบรางวัล ในปีนี้ วช.ได้อนุมัติรางวัลข้อเสนอโครงการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา และรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา มีผลงานที่ได้รับ ดังนี้
รางวัลข้อเสนอโครงการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา
กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน “บรรจุภัณฑ์ฉลาดแบบตัวชี้วัดอุณภูมิและเวลาจากเงินนาโนคอมพอสิตสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร” ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน “ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับประเภทสานจากวัสดุฉลาดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตันระยะเฉียบพลัน” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี
กลุ่มการพัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปะและการออกแบบ รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน “การออกแบบและพัฒนากระเป๋าที่ใช้วัสดุเหลือใช้จากถุงพลาสติกและวัสดุธรรมชาติผักตบชวา” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลอีสาน นครราชสีมา
กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน “ระบบผลิตไฟฟ้าร่วมกับการทำความเย็นและความร้อนจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ” ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา มีดังนี้
กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน “การรวมทุกขั้นตอนในอุปกรณ์ฐานกระดาษเพียงชิ้นเดียวสำหรับการวิเคราะห์สารหนูในข้าว” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มการแพทย์และสาธารณสุข รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน “อุปกรณ์วาล์วทางเดียวจากโลหะผสมจำรูปเพื่อใช้รักษาโรคถุงลมโป่งพอง” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
กลุ่มการพัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปะและการออกแบบ รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน “อุปกรณ์ตรวจวัด PM 2.5 ด้วยสมาร์ตโฟน” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงาน “ระบบผลิตไฟฟ้าร่วมกับการทำความเย็นและความร้อนจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ” ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลข้อเสนอโครงการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาจะได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร พร้อมเงินสด ดังนี้
รางวัลระดับดีเด่น รางวัลละ 20,000 บาท รางวัลระดับดีมาก รางวัลละ 15,000 บาท และรางวัลระดับดี รางวัลละ 10,000 บาท และรางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา รางวัลระดับดีเด่น รางวัลละ 30,000 บาท รางวัลระดับดีมาก รางวัลละ 20,000 บาท และรางวัลระดับดี รางวัลละ 10,000 บาท
โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ณ เวที Highlight Stage ห้องคอนเวนชัน ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ