ตอนจบ..เที่ยวงานไหว้พระธาตุช่อแฮ
แลศิลปะมัดย้อม ย้อนชิมอาหารถิ่นแพร่
อรุณสวัสดิ์เมืองแพร่ เช้าแรก แต่เป็นวันที่ 2 ของการมาเยือนเมืองแพร่ ภารกิจเที่ยวต้องรีบหน่อย เพราะเวลามีน้อย หลังทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ก็ไปลุยกันเลยที่ “วนอุทยานแห่งชาติแพะเมืองผี” เป็นธรรมชาติที่สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนไม่น้อย เป็นสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นดิน และหินทราย ถูกกัดเซาะตามธรรมชาติ ทำให้กลายเป็นรูปร่างลักษณะต่างๆดูแล้วแปลกตา
ชื่อ “แพะเมืองผี” น่าจะมาจากภาษาพื้นเมือง “แพะ” แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วนคำว่า “เมืองผี” แปลว่า เงียบเหงา วังเวง อาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศ ที่ดูเร้นลับน่ากลัว
จากนั้นเราไปยังร้าน “บ้านมัดใจ homemade & cafe” เป็นร้านที่นำเสนอ งานผ้ามัดย้อมและงานเซรามิค เป็นทั้งคาเฟ่ ร้านขายของที่ระลึก ลานกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ สามารถทำกิจกรรม ทำลายผ้ามัดย้อม หรือจะทดลองออกแบบ และวาดลวดลายบนแก้วเซรามิคได้
เกิดจากการรวมตัว 3 พี่น้อง และมีคุณพ่อคุณแม่ เป็นผู้สนับสนุน บรรยากาศในร้านน่ารัก ต้นไม้เยอะ ร่มรื่น ทำให้มัดใจผู้มาเยือนได้จริงๆ จากนั้นไปต่อค่ะ มื้อกลางวันที่ “ร้านไก่ย่าง น้ำชำ” เป็นร้านขายไก่ย่างร้อนๆ กรอบนอกนุ่มใน กินคู่กับส้มตำ รสจัดจ้าน
อิ่มแล้วเราก็ช้อปปิ้งกันต่อที่ ” หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง “ อยู่ 2 ฝั่งถนน อินดิโก้ จำหน่ายผ้าหม้อห้อม กว่า 50 ร้านค้า มีทั้ง เสื้อผ้า สิ่งถักทอทั้งแบบดั้งเดิม และมัดย้อมร่วมสมัย สามารถเดินช็อปกันตามใจชอบ
และงานสำคัญของวันนี้ที่เราไปเข้าร่วม คือ “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี 2562” และชมมหกรรม การแข่งขันดี ตีกลองปู่จา ( ปู่จา ) พญาขาล สนับสนุนโดยททท.สำนักงานแพร่ กลองปูจาเป็นกลองโบราณชนิดหนึ่งที่ใช้ในกิจกรรมทางพุทธศาสนา มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา ใช้เพื่อส่งสัญญาณบอกข่าว ป่าวประกาศในชุมชน หรือตีเพื่อเป็นพุทธบูชา ในวันโกน เพื่อเตือนให้ทราบว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันพระ หรือใช้ในประเพณีต่างๆ
งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ วัดพระธาตุช่อแฮ ไฮไลท์ของเมืองแพร่ที่พลาดไม่ได้ อีกหนึ่งความสวยแปลก และศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของแพร่ ประดิษฐานพระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 1879 ลักษณะเป็น เจดีย์ก่ออิฐถือปูน หุ้มด้วยทองจังโก ศิลปะเชียงแสน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง “ เป็นประเพณีที่จัดต่อเนื่องสืบทอดมายาวนาน และยังเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเลื่อมใส ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา
ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ จัดขึ้นอย่างอลังการท่ามกลางความร่วมมือร่วมใจของพุทธศาสนิกชนชาวเมืองแพร่ ที่หลั่งไหลกันมาร่วมขบวนแห่อย่างพร้อมเพรียงในทุกอำเภอ พร้อมกับพิธีเปิดและกิจกรรมต่างๆ มากมาย ณ วัดพระธาตุช่อแฮ ซึ่งวัดแห่งนี้ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ ประมาณ 9 กิโลเมตร (เส้นทางหลวงหมายเลข 1022)
ย้อนอดีต เมืองแพร่เมืองงาม เล่าขานตำนานช่อแพร่ช่อแฮแหล่งประดิษฐานพระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ พระศอกซ้ายของพระพุทธเจ้าเมื่อถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ ตำนานเล่าว่า อดีตกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพตและได้มอบพระเกศาธาตุให้ขุนลั๊วอ้ายก้อมไปบรรจุในผอบแก้วแล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออกของดอยที่ประทับ ซึ่งผ้าแพรที่ขุนลั๊วอ้ายก้อมนำมารองรับพระเกศาธาตุนั้นเรียกว่า “ผ้าแฮ” นิยมนำผ้าแฮ หรือผ้าแพรมาประดิษฐ์เป็นช่อ หรือธง แล้วทำการถวายสักการะเป็นพุทธบูชา ต่อมาภายหลังเพี้ยนมาเป็น “ช่อแฮ่” หรือ “ช่อแพร่”
ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า ต่อไปเมืองนี้จะชื่อเมืองแพร่ และหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้ายมาประดิษฐ์ที่นี่ด้วย และหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์จำนวนมากได้ร่วมกันอธิษฐานอันเชิญพระบรมสารีกริกธาตุที่ได้บรรจุในผอบแก้วที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้แต่เดิม แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่าจะหมดอายุแห่งพระพุทธศาสนา 5000 พระวัสสา
ร่วมพิธีเปิดงานเสร็จได้เวลามื้อเย็น ก่อนราตรีสวัสดิ์เข้าที่พักโรงแรมมัดคำอีก1คืน
อรุณสวัสดิ์แพร่อีกวันนึง พร้อมกับเตรียมตัวขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพมหานคร…