สค.พม.แจงปมรองมิสทิฟฟานี่
ไม่ได้เป็นครูเพราะเพศสภาพ
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวของคุณวรสลัญช์ ทวิกาญจน์ รองอันดับสอง Miss Tiffany Universe 2018 ที่ถูกปฏิเสธไม่รับเป็นครู เพราะเพศสภาพ นั้น
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ชี้แจงในเบื้องต้นว่า กรณีคุณวรสลัญช์ ทวิกาญจน์ รองอันดับสอง Miss Tiffany Universe 2018 ถูกปฏิเสธไม่รับเป็นครู เพราะเพศสภาพ ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้รับการประสานงานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เพื่อขอให้ช่วยเหลือและขอคำแนะนำในการจัดทำคำร้องเพื่อที่จะยื่นต่ออธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งเมื่อกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้รับคำร้องดังกล่าวแล้วจะนำคำร้องยื่นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยด่วน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการ วลพ. ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 นี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ออกมาและมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 แต่ดูเหมือนว่าปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ยังไม่ทุเลาลงไป ดังนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมีอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นประธานกองทุนฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องปัญหาการเลือกปฏิบัติเนื่องด้วยเพศสภาพ หรือปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จึงได้จัดทำแผนงานสร้างความตระหนักรู้เรื่อง “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” แผนงานระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564) ขึ้น และขณะนี้ เพื่อเร่งให้ความรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้กับหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกำลังเร่งจัดทำ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการดำเนินงาน จะส่งผลให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศนี้ลดลงได้
ทั้งนี้ หากบุคคลใดเห็นว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่เกินหนึ่งปี สามารถมายื่นคำร้องได้ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตามแบบฟอร์ม วลพ. 1 (ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการกรอกแบบฟอร์ม) ดังนี้
- ผู้ร้อง/ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องได้ที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง (จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชลบุรี นนทบุรี และสงขลา)
- มายื่นด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ email : gidentity3@gmail.com
- จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูล เอกสาร หลักฐานต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ วลพ. พิจารณาไต่สวน ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง โดยการเรียกมาให้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย และมีการลงพื้นที่เพื่อไต่สวนด้วย
- คณะกรรมการ วลพ. จะดำเนินการพิจารณาเรื่องภายใน 90 วัน และหากไม่แล้วเสร็จจะขยายเวลาพิจารณาได้รวม 2 ครั้ง ๆ ละ 30 วัน รวมทั้งสิ้น 150 วัน และหากยังไม่เสร็จสิ้นประธานกรรมการ วลพ. จะพิจารณากำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
- เมื่อกระบวนการวินิฉัยแล้วเสร็จ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจะมีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยให้ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินการวินิจฉัยในแต่ละกรณี หากผู้ร้อง ประสงค์จะรับการชดเชย เยียวยา ในรูปของเงิน (ซึ่งต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. จึงจะขอรับเงินชดเชยเยียวยาได้ ผู้เสียหายรายนั้น ๆ ต้องดำเนินการขอยื่นรับเงินชดเชยเยียวยาจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามแบบฟอร์ม กทพ. 3 ได้ ภายในเวลา 1 ปี นับจากได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยจากกรมกริจการสตรีและสถาบันครอบครัว)