กนอ.โชว์ศักยภาพSMEs-ITC
SMEs-สตาร์ทอัพแห่ใช้บริการ
“กนอ.” เผยความสำเร็จการให้บริการ ศูนย์ SMEs-ITC ทั่วประเทศ 13 แห่ง เอสเอ็มอี–สตาร์อัพแห่ใช้บริการกว่า 1,000 ราย ตื่นตัวขอรับคำปรึกษาทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจใหม่ อัพเกรดสู่การเป็นผู้ผลิตป้อนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เต็มรูปแบบ
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า แผนการพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มสตาร์ท อัพ (Start Up) วิสาหกิจชุมชน ผ่านกลไกการให้บริการของศูนย์ SMEs Industry Transformation Center : SMEs-ITC โดย กนอ.เปิดให้บริการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 13 แห่ง ทั่วประเทศ พบว่า มียอดผู้เข้าใช้บริการ สูงกว่า 1,000 ราย นับตั้งแต่เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนในการผลิต ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ ตลอดจนการเป็นห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในนิคมฯได้อย่างมีมาตรฐาน โดยพื้นที่ที่ผู้ประกอบการเข้ารับบริการสูงสุดอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้เกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ กลุ่มที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ SMEs-ITC ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร-เครื่องดื่มอุตสาห กรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมขนส่งสินค้า อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนโลหะ-พลาสติก เป็นต้น โดยในแต่ละกลุ่มได้ขอรับคำปรึกษาในด้านต่างๆ อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ การขอคำปรึกษาเพื่อริเริ่มและพัฒนาธุรกิจ การขอคำปรึกษาธุรกิจจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กบราเธอร์ (Big Brother) การขอคำปรึกษาด้านแหล่งเงินทุน การขอรับคำปรึกษาด้านการส่งออกต่างประเทศตลอดจนช่องทางการตลาดเพื่อเสริมแกร่งทางธุรกิจรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต
สำหรับศูนย์ SMEs-ITC ทั้ง 13 แห่ง กนอ.เปิดให้บริการในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนที่มีศักยภาพ ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วโลก ประกอบด้วย 1.นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จ.ชลบุรี 2.นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2 จ.ชลบุรี 3.นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี จ.ฉะเชิงเทรา 4.นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 5.นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน 6.นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา 7.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง 8.นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา 9.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจ.พระนครศรีอยุธยา10.นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จ.กรุงเทพมหานคร 11.นิคมอุตสาหกรรมบางชันจ.กรุงเทพมหานคร 12.นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ 13.นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
อย่างไรก็ตาม การให้บริการศูนย์SMEs-ITC ในแต่ละพื้นที่ยังได้เปิดให้คำปรึกษา ด้านการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ โดยผ่านการถ่ายทอดจากบิ๊กบราเธอร์ (Big Brother) รวมถึงการบริหารจัดการทางการเงิน ด้วยการขอรับคำปรึกษาด้านแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินที่เป็นเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME BANK)
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่สนใจนำเข้าและส่งออก ยังได้เข้ามาใช้บริการขอรับคำปรึกษาด้านการตลาด ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการนำเข้าวัตถุดิบ และช่องทางการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ เป็นการขยายโอกาสทางการตลาด และการหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนั้นศูนย์บริการดังกล่าวยังให้บริการด้านต่างๆทั้งการใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อเป็นแหล่งเพิ่มองค์ความรู้ทั้งด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ ในพื้นที่ให้บริการที่ครบวงจร หรือ Co-Working Space ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพ ของไทยก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ