วช.ดันต้นแบบชุมชนสีเขียว
สร้างจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีนโยบายรณรงค์ให้มีการค้นคว้า วิจัย รวมทั้งมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม และมีการสนับสนุนให้ใช้พลังงานทดแทนต่าง ๆ ให้แพร่หลายยิ่งขึ้นจนเป็นวาระแห่งชาติ เพราะพลังงานทดแทนมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกระแสไฟฟ้าที่มีความสำคัญและถือเป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชน
อย่างไรก็ตามการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันยังคงมีปัญหาต่างๆ อีกมาก วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ตามการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของรัฐบาล ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน จึงได้ให้ทุนกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ ปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ภายใต้แผนงานวิจัยตอบสนองนโยบายรัฐบาล กลุ่มเรื่องพลังงานทดแทน (โครงการท้าทายไทย) กิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว”. แก่. ศาสตราจารย์ ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ
เพื่อศึกษาวิจัยและนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีจากผลการวิจัยด้านพลังงานไปใช้ในชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนสีเขียว
ศาสตราจารย์ ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การดำเนินงานของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว มีทั้งหมด 8 โครงการ ซึ่งสามารถนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน ขนาด 15 กิโลวัตต์ต้นแบบสามารถประยุกต์ใช้งานได้จริงเพื่อชุมชนสีเขียว
เป็นการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดย ผศ.ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ และคณะ โดยใช้พื้นที่สนามกีฬากลาง จังหวัดชัยภูมิที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีการออกกำลังกายและเป็นที่พักผ่อนของประชาชน ด้วยการนำพลังงานลมและแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าร่วมกัน การทำงานของระบบจะช่วยประหยัดไฟฟ้าให้กับพื้นที่ไม่น้อยกว่าวันละประมาณ 100 หน่วยไฟฟ้าต่อวัน คิดเป็นมูลค่าการลดค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าปีละประมาณ.200, 000. กว่าบาท
สามารถเพิ่มเวลาในการออกกำลังกายให้ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น และใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบของชุมชนสีเขียวในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญในการช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาส่งเสริมการใช้พลังงานจากธรรมชาติกันมากขึ้น ทำให้ลดปัญหามลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดภาวะโลกร้อน
โครงการนี้ยังเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในระดับชาติและสากลในการสร้างเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของพลังงานในประเทศไทย โดยมีการพัฒนากังหันลมขึ้นภายในประเทศให้เหมาะสมกับการใช้งาน มีการสร้างงานสร้างรายได้.ถ่ายทอดเทคโนโลยีและบุคลากรด้านวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ในทุกด้านในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
จากความสำคัญของโครงการดังกล่าว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการสื่อมวลชนสัญจร ประจำปี 2562 ครั้งที่ 6 เรื่อง “ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เพื่อชุมชนสีเขียว” ระหว่างวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2562 ณ จังหวัดชัยภูมิ โดยได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนเพื่อชุมชนสีเขียว ทั้งนี้เพื่อให้สื่อมวลชนได้เผยแพร่ผลงานและกิจกรรมดังกล่าวไปสู่สาธารณชนได้รับทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป