เจ๋ง “กระชังปลาอัจฉริยะ”
นวัตกรรมจากเมคเกอร์รุ่นใหม่
ประเทศไทยติดอันดับโลก 1 ใน10 ของประเทศที่มีผลผลิตการประมงสูง และสร้างรายได้แก่ประเทศปีละกว่า 2.2 แสนล้านบาท ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ ผสมผสานความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยี ตามแนวทางของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาให้ประมงไทยเป็น Smart Farming Thailand 4.0 ที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและมั่นคงตามหลักสากล ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถิติปี 2560 ไทยมีผลิตผลจากการประมงทั้งสิ้น 2.43 ล้านตัน นับว่ามากที่สุดในกลุ่มอาเซียน โดยมาจากทะเล 1.28 ล้านตัน ได้จากการจับสัตว์น้ำจืด 189,100 ตัน มาจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 552,070 ตัน และมาจากการเลี้ยงในน้ำจืด 414,050 ตัน ขณะที่ประมงน้ำจืดตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงต่างๆ และฟาร์มปลา มักเผชิญอุปสรรคปัญหาจากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสร้างความเสียหายและสูญเสียรายได้แก่ชาวประมงน้ำจืดอยู่เสมอ เป็นแรงบันดาลใจให้ 3 หนุ่มเมคเกอร์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มี นายรักษ์ธนา ฟักนาค, นายปัญจวิชญ์ วัฒนภินันท์ชัย และนายณัฐพงศ์ ศรีภิรมย์ ได้คิดค้นนวัตกรรม กระชังปลาอัจฉริยะ (Smart Fish Cage) โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา ผศ. เดชา วิไลรัตน์ และ รศ.ดร. ฉัตรชัย เนตรพิศาลวานิช ซึ่งเป็นน่ายินดีที่ผลงานนี้ได้สร้างประโยชน์ต่อสังคมและได้รับรางวัลชนะเลิศ Mahidol Engineering Maker Award 2019 เมื่อเร็วๆนี้
รักษ์ธนา ฟักนาค กับรอยยิ้มของลุงชาวประมงเจ้าของกระชังปลา
นายรักษ์ธนา ฟักนาค หรือ หลุยส์ หัวหน้าทีมเมคเกอร์ นักศึกษาภาควิศวกรรมไฟฟ้า วิศวะมหิดล กล่าวถึงที่มาของนวัตกรรมกระชังปลาอัจฉริยะ (Smart Fish Cage) นี้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ทำให้กระชังปลาหลายแห่งประสบปัญหาปลาน็อคน้ำ หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและสภาพอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เช่น ค่าความเป็นกรด-ด่าง (Ph) ไม่ได้มาตรฐาน , ความขุ่นของน้ำ และปริมาณออกซิเจนในน้ำ เป็นต้น ถึงแม้ว่าหน่วยราชการจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันและควบคุมปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้ทันเวลา เราจึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างเครื่องมือและระบบแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือชาวประมงไทยให้เตรียมรับมือและตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบกับปลาที่เลี้ยงอยู่ในกระชังได้ทันท่วงที
โดยคอนเซ็ปท์ดีไซน์ จะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากคลาวด์แพลทฟอร์ม (Cloud Platform) มาช่วยในการเก็บข้อมูลและการทำงานของอุปกรณ์ ทำให้กระชังปลามีความฉลาดอัจฉริยะสามารถแสดงผล สั่งการ เฝ้าระวัง และควบคุมการทำงานได้สะดวก ผ่านทางมือถือสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย
กระชังปลาอัจฉริยะ (Smart Fish Cage) ใช้ระยะเวลาในการวิจัยพัฒนาราว 6 เดือน โดยเมคเกอร์ทั้งสามเริ่มต้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวประมงที่เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังย่านจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อวิเคราะห์การเลือกใช้เซ็นเซอร์ให้เหมาะสม ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 บาท การออกแบบมุ่งให้ใช้งานง่าย มีหลักการทำงานไม่ซับซ้อน ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ตามร้านอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ทำให้มีราคาถูกและชาวประมงยังสามารถทำได้ด้วยตนเอง ค่าที่ได้จากการตรวจวัดนั้นเพียงพอต่อการตัดสินใจ ตอบโจทย์ผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ
นายปัญจวิชญ์ วัฒนภินันท์ชัย หรือ ปั่น หนึ่งสมาชิกในทีมวิจัย กล่าวถึงส่วนประกอบระบบอัจฉริยะ ว่า กระชังปลาอัจฉริยะ (Smart Fish Cage) ได้รับการออกแบบและใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและมีราคาไม่แพง ประกอบด้วย 1.ท่อพีวีซี ขนาด 2 นิ้ว ความยาว 1.5 เมตร จำนวน 2 ท่อน เพื่อใช้ติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ 2.เซนเซอร์และทรานส์ดิวเซอร์ เป็นเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ, เซนเซอร์วัดความเป็นกรด-ด่าง, เซนเซอร์วัดระดับความสูงของน้ำ, เซนเซอร์วัดความขุ่นของน้ำ และอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ (Solid State Relay) ระหว่างภาคควบคุมซึ่งเป็นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กับวงจรภาคไฟฟ้ากำลัง
3.สายสัญญาณหุ้มฉนวน (Coaxial) ชนิด 5 คอ ที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดี 4.ไมโครคอนโทรลเลอร์ เป็นกล่องควบคุมใช้ในการประมวลผล และ 5.ซอฟท์แวร์ (ARDUINO, NETPIE และ LINE Notify) โดยแบ่งการแจ้งเตือนภัยออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ระดับปกติ (Normal) ระดับเฝ้าระวัง (Warning) ระดับวิกฤต (Emergency) ซึ่งหากค่าอยู่ในระดับเฝ้าระวัง หน่วยควบคุม หรือ MCU จะสั่งให้เพิ่มค่าออกซิเจนในน้ำโดยอัตโนมัติ
นายณัฐพงศ์ ศรีภิรมย์ หรือ ณัฐ หนุ่มคนเก่ง เผยถึงวิธีการใช้งาน ว่า นำท่อพีวีซีที่ติดตั้งเซ็นเซอร์เรียบร้อยแล้ววางลงน้ำในแนวดิ่งลึก 1 เมตร เซ็นเซอร์จะทำการตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ แล้วจึงส่งสัญญาณมาตามสาย Coaxial เข้ามายังกล่องควบคุม เพื่อทำการประมวลผล จากนั้นข้อมูลที่รวบรวมได้จะถูกบันทึกไว้บนคลาวด์ โดยใช้ระบบปฏิบัติการ NETPIE ก่อนจะแจ้งเตือนข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น LINE Notify บนมือถือสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามผลได้ตลอดเวลา ซึ่งรองรับทั้งระบบ Android และ IOS หรือหากผู้ใช้งานต้องการทราบค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ก็สามารถดูได้บนเว็บเพจของ NETPIE โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ ในอนาคตเรายังวางแผนต่อยอดไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI ด้วยครับ
จากความคิดสร้างสรรค์…คนรุ่นใหม่ใส่พลังมาสร้างนวัตกรรม ที่จะช่วยชาวประมงน้ำจืดและเศรษฐกิจชุมชน ได้อย่างน่าชื่นชม
ภาพที่1จากซ้าย-
สามเมคเกอร์ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ”กระชังปลาอัจฉริยะ” ณัฐพงศ์ ศรีภิรมย์ (ณัฐ) ,รักษ์ธนา ฟักนาค (หลุยส์) ,ปัญจวิชญ์ วัฒนภินันท์ชัย (ปั่น) รางวัลชนะเลิศ Mahidol Engineering Maker Award 2019 ด้วยนวัตกรรม ”กระชังปลาอัจฉริยะ”