วช.ร่วม “ศรีสมเด็จโมเดล”
กำจัดพยาธิใบไม้ตับ-มะเร็ง
สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยโครงการวิจัยท้าทายไทย : Fluke Free Thailand ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน “มหกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี” วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ที่ รร.โรงเรียนศรีสมเด็จพิมพ์พัฒนาวิทยา อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิด
ทั้งนี้นายพจน์ เอกอนันต์ถาวร ประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอศรีสมเด็จ กล่าวต้อนรับ และนายสุทธินันท์ บุญมี ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพี่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 (กขป.7) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของกิจกรรมและการสนับสนุนของ กขป.7 ในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ และลำดับถัดมาได้มีพิธีมอบสื่อให้ความรู้พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อเผยแพร่ไปยังอำเภอต่างๆ โดย คุณภิรมย์ ตริสกุล ผู้จัดการสาขาร้อยเอ็ด และคุณสุธาสินี ขามช่วง ผู้จัดการสาขาตลาดสระทอง (ร้อยเอ็ด) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ต่อมาประธานในพิธีพร้อมด้วยคณะผู้บริหารได้เดินเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในการรณรงค์ป้องกันกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ของโครงการวิจัย ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : Fluke Free Thailand อาทิ การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยแอนติเจนในปัสสาวะ, การจัดการระบบสุขาภิบาล ,การใช้หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันในเยาวชน, อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ, ระบบ Isan cohort และการจัดแสดงผลการดำเนินงานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีและสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี
จากนั้นคณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ ที่ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีและหน่วยงานในพื้นที่ ได้จัดขึ้นเพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ โดยกิจกรรมการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่สงสัยว่าเป็นพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์และบันทึกข้อมูลลงในระบบ Isan Cohort ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบกว่าสองล้านคนและสามารถติดตามผลข้อมูลได้แบบ realtime โดยในวันงาน มีประชาชนในอำเภอโกสุมพิสัย ลงทะเบียนเข้าตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยเครื่ิองอัลตร้าซาวด์ จำนวน 549 ราย เข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 507 ราย พบผู้สงสัยมะเร็งท่อน้ำดีรอการยืนยัน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.20
และในช่วงบ่าย คณะผู้บริหารจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีพร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลหนองจิก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เพื่อเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลที่บริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนตำบล และจากนั้นคณะผู้บริหารฯ ได้เดินทางต่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เพื่อ เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานกระบวนการจัดการบ่อปลาปลอดพยาธิใบไม้ตับของผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลาในพื้นที่ ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม
สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ อำเภอโกสุมพิสัย เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของจังหวัดมหาสารคาม ที่ทางสถาบันวิจัยฯ ร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 และกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) ได้นำเอาโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในด้านต่างๆ ลงมาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ Fluke Free Thailand ที่มีเป้าหมายในการลดอัตราการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และสอดรับกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ยึดถือการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะภาคอีสานให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดอัตราการเสียชิวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีลงให้เหลือน้อยที่สุด
การขจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้น จะกระทำให้สำเร็จโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลและต่อเนื่อง การจะดำเนินการแต่เพียงในโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางสุขภาพด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ร่วมกัน จากต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งก็คือ การกำจัดพยาธิใบไม้ตับ ลดการแพร่กระจายตามแหล่งน้ำ กำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค จัดการอาหารให้ปลอดภัย เพิ่มภูมิคุ้มกันทางปัญญาแก่เยาวชน จัดการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบสามารถติดตามได้ การคัดกรองและรักษาตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน