นักวิจัยมช.พบพันธุ์ไม้ชนิดใหม่โลก
‘พรหมจุฬาภรณ์’ เล็งทำยาต้านมะเร็ง
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แถลง นักวิจัยมช.ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลมหาพรหม (Mitrephora (Blume) Hook.f. & Thomson) ได้รับพระราชทานนาม “พรหมจุฬาภรณ์” จากศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ส่วนภูมิภาค ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ อาคาร ๔๖ ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล รองผู้อำนวยการภารกิจจัดสรรงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมแถลงข่าว ระบุ “พรหมจุฬาภรณ์” พืชจากป่าดิบแล้งบนเขาหินปูนขนาดเล็กในนครศรีธรรมราช พร้อมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อขยายพันธุ์ให้มากขึ้นและพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งต่อไป
คณะนักวิจัยนำโดย ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมด้วย น.ส.อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง นักวิจัยอิสระ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำหนังสือพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย (Flora of Thailand) และได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือชื่อใหม่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่
พืชชนิดนี้มีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงไม่เกิน ๒ เมตร มีดอกขนาดเล็กที่สุดในสกุล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ เซนติเมตร สีขาวเด่น และเปลี่ยนเป็นสีครีมเมื่อดอกมีอายุมากขึ้น มีกลิ่นหอมปานกลางคล้ายกลิ่นดอกโมก กลีบดอกชั้นในประกบกันเป็นรูปโดม โคนกลีบคอด เผยให้เห็นช่องว่างระหว่างกลีบ ผลเมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม
ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงสนพระทัยการศึกษาวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี วิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสหสาขาวิทยาศาสตร์ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยทรงริเริ่มการก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ในสาขาดังกล่าว อันมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ กอปรกับเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้กราบทูลขอพระราชทานนามไทย “พรหมจุฬาภรณ์” สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกชนิดนี้ และกราบทูลขอพระราชทานนามระบุชนิด “chulabhorniana” เพื่อเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora chulabhorniana Damth., Aongyong & Chaowasku ซึ่งได้รับพระราชทานนามทั้งสองอันเป็นเกียรติแก่คณะผู้วิจัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง
คณะนักวิจัย
‘พรหมจุฬาภรณ์’ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Brittonia เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นพันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด พบเพียงไม่กี่ต้นบริเวณป่าดิบแล้งบนเขาหินปูนขนาดเล็กในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่นอกเขตอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบบนิเวศเขาหินปูนนั้นเป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง และมักพบสิ่งมีชีวิตที่จำเพาะ กล่าวคือ ไม่พบที่อื่นใดอีก เมื่อถูกคุกคามมีโอกาสสูญพันธุ์สูง เขาหินปูนแห่งนี้จึงมีโอกาสถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากการขยายตัวของสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งการระเบิดหินปูนเพื่อการใช้ประโยชน์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งคนไทยทุกคนต้องช่วยกันหวงแหนเขาหินปูน เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อช่วยขยายพันธุ์ต้นพรหมจุฬาภรณ์ให้มีจำนวนมากขึ้น และนำไปปลูกอนุรักษ์ไว้ในสวนพฤกษศาสตร์ หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ เป็นการลดโอกาสการสูญพันธุ์ของต้นพรหมจุฬาภรณ์
ดร.ธนวัฒน์ระบุว่า การค้นพบ “พรหมจุฬาภรณ์” จัดได้ว่าเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาต่อยอดในสาขาต่าง ๆ เปรียบเสมือนกับต้นน้ำที่ค่อย ๆ ไหลไปยังกลางน้ำและปลายน้ำ นั่นคือการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน หากขาดพื้นฐานแล้วประเทศชาติย่อมขาดโอกาสในการพัฒนาต่อยอด การพัฒนายารักษาโรคจากพืชสมุนไพรก็เป็นหนึ่งในแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เนื่องจากพบว่าพืชสกุลมหาพรหมหลายชนิดมีสารเคมีทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าต้นพรหมจุฬาภรณ์ก็อาจจะมีสารเคมีทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง และอาจพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งได้ในอนาคต ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งและพัฒนายาต้านมะเร็งเป็นหนึ่งในพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย