สวทช. ร่วมสนพ.จัดสัมมนา
โชว์วิจัยระบบกักเก็บพลังงาน
สวทช. ร่วมกับ สนพ. จัดสัมมนาเสนอผลงานวิจัยด้านระบบกักเก็บพลังงานหวังสร้างฐานความรู้ ต่อยอดพัฒนานวัตกรรม ตามนโยบายพลังงาน 4.0
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เล็งเห็นความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage ที่มีประสิทธิภาพสำหรับประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการผลิตและใช้พลังงานของประเทศ จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนพลังงานทดแทน กลุ่มงานค้นคว้าวิจัย ศึกษาเพื่อการพัฒนาและส่งเสริม “โครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ 2559” ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในเรื่องเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน
โดยทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในด้านต่าง ๆ นำร่องใช้ในงานด้านความมั่นคงและภัยพิบัติ ด้านอุตสาหกรรม และยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างฐานพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานให้เข้มแข็งและแข่งขันได้ในระยะยาว มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2559 – 12 กันยายน 2562
โดยคณะทำงานกำกับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน อนุมัติการสนับสนุนโครงการและมีโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ณ ปัจจุบัน จำนวน 27 โครงการ จาก 12 หน่วยงาน สวทช. จึงจัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้างานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เทคโนโลยีร่วมกันระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย และสร้างโอกาสการต่อยอดนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานสู่การใช้ประโยชน์ตามนโยบาย Energy 4.0
“เนื่องจากระบบกักเก็บพลังงานเป็นส่วนประกอบหลักที่จะทำให้เกิดการเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ให้ใช้ได้นาน ทำให้เกิดเสถียรภาพในระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน ยานพาหนะไฟฟ้าใช้งานได้นานขึ้น รวมถึงบุคลากรที่มีความรู้เรื่องนี้ยังมีน้อย ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถด้านนี้ด้วยการพัฒนาขึ้นมาเอง พร้อมศึกษาจากต่างประเทศ แล้วพัฒนาต่อยอดในอนาคต
ซึ่งโครงการฯ มีกรอบงานวิจัย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศไทย ระยะ 20 ปี
กลุ่มที่ 2 การสนับสนุนงานวิจัยเชิงประยุกต์ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อใช้งานด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 กรอบวิจัย ได้แก่ กรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานด้านความมั่นคงและภัยพิบัติ กรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานกับนิคมอุตสาหกรรม พลังงานทดแทน และพื้นที่ห่างไกล และกรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานในยานยนต์ ขณะที่
กลุ่มที่ 3 การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า ประกอบด้วย 2 กรอบวิจัย ได้แก่ กรอบงานด้านวัสดุ ระบบการกักเก็บและการศึกษาการใช้เซลล์เชื้อเพลิงสำหรับการใช้งานเป็นระบบกักเก็บพลังงาน และกรอบงานด้านการควบคุมการทำงาน การนำระบบกักเก็บพลังงานไปใช้งานร่วมกับระบบการใช้และผลิตพลังงานอื่น ๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
นักวิจัยในโครงการ Energy Storage บางส่วนได้เล่าถึงผลงานวิจัย ท่านแรก รศ.ดร.ฐปนีย์ สารครศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า “ได้พัฒนาวัสดุแอโนดความหนาแน่นพลังงานสูงสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่เตรียมมาจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ในปัจจุบันการใช้รถไฟฟ้ากำลังมา ฉะนั้นแบตเตอรี่ที่ทำมาจากวัสดุแอโนดจึงเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในรถ EV เพราะความจุของแบตเตอรี่ที่สูง ขนาดเล็ก ไม่ต้องจอดรถเพื่อชาร์จแบตเตอรี่บ่อย อายุใช้งานยาวนาน โครงการ Energy Storage ได้เห็นความสำคัญและสนับสนุนทุนวิจัย ทำให้สามารถพัฒนาเครื่องมือ ที่จะพัฒนาวัสดุแอโนดและบรรลุเป้าหมายให้เสร็จได้ภายในปีครึ่ง” ด้าน รศ.ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า “ได้ศึกษาตัวเก็บประจุยิ่งยวด ด้วยการเพิ่มความจุโดยใช้ปรากฏการณ์ทางควอนตัม สามารถเพิ่มความจุของตัวเก็บประจุยิ่งยวดได้ถึงประมาณ 200% ซึ่งยังเป็นงานวิจัยเฟสแรก ซึ่งมีผลด้านบวกในความสามารถเพิ่มความจุได้ 2 – 3 เท่า โดยที่ราคาของวัสดุไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยทุน Energy Storage นับเป็นทุนที่สนับสนุนทั้งการวิจัยพื้นฐาน และการวิจัยขนาดใหญ่มาก ทำให้สามารถต่อยอดโครงการไปได้ไกล”
ขณะที่อีก 2 ท่าน รศ.ดร.ภัทรพงษ์ ผาสุขกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เล่าว่า “ได้พัฒนาชุดบริหารจัดการชุดแบตเตอรี่รถยนต์ หรือ Battery Managemeny System (BMS) เพื่อที่จะนำมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด โดยจะสร้างชุดแพ็คแบตเตอรี่ร่วมกับตัว BMS ที่ได้พัฒนาใส่ลงไปในรถยนต์โตโยต้าพรีอุส ซึ่งเมื่อใส่ไปแล้วรถยนต์สามารถทำงานได้ตามปกติในเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองพลังงานของรถยนต์ ในด้านสมรรถภาพทั้งแรงม้าและแรงบิดพบว่ามีสมรรถภาพที่สูงขึ้นมากกว่า 20% ซึ่งการที่โครงการ Energy Storage เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของเงินทุนวิจัยจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้โครงการวิจัยนี้ดำเนินการต่อไปได้”
ส่วนดร.ปัญญา บุญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เล่าว่า “ได้จัดทำแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์และคาดการ์ความต้องการที่จะกักเก็บพลังงานที่เหลือใช้จากการผลิต และนำไปใช้ในช่วง peak เพื่อสร้างเสถียรภาพพลังงานในประเทศไทย การที่กองทุนเข้ามาสนับสนุนเริ่มต้นตั้งแต่งบประมาณและการกำหนดทิศทางของงานวิจัย รวมถึงได้รับความอนุเคราะห์จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่นำข้อมูลมามอบให้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการกักเก็บพลังงานในประเทศไทย”