วช.ร่วม BEDO-ม.นเรศวร-สทน.
ประกาศส่งออกมะม่วงไปUSสำเร็จ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)แถลงความสำเร็จ “วิจัยปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปอเมริกา” ความภูมิใจของนักวิจัยไทยกับการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 12ปีในการแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสดสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา วช.ย้ำหนุนงานวิจัยมุ่งเป้าเพิ่ม พร้อมเปิดโอกาสงานวิจัยผัก-ผลไม้ชนิดอื่น ๆ
นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันดีที่วช. BEDO มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)ประกาศในความสำเร็จของการวิจัยแบบพุ่งเป้า ที่สามารถทำให้ผลไม้ไทยอย่างมะม่วงสามารถส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้อีกครั้ง หลังจากนับตั้งแต่ปี 2551 สหรัฐฯได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (Fresh Frut) ของไทย 6 ชนิดได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ แต่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไม่เคยได้ส่งออกไป เนื่องจากหลังฉายรังสีและส่งออกไปถึงปลายทางที่สหรัฐอเมริกาได้ประสบปัญหาด้านคุณภาพ และพบปัญหาการเกิดเส้นดำบริเวณผิวเปลือก และเกิดเนื้อสีน้ำตาล ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณส่วนแก้มของผล ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกผลมะม่วงสดไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาได้จนถึงปัจจุบัน
จากปัญหาดังกล่าว จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง และได้เกิด โครงการ “การศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา และการลดความเสียหายของมะม่วงฉายรังสีแกมมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัย
แห่งชาติ (วช.) ,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO ,มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยงานวิจัยประสบผลสำเร็จในปี 2562 ทำให้สามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิและยังได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ
“วันนี้มาด้วยความดีใจ ในความสำเร็จจากการวิจัยนี้ ทำให้เวลานี้ไทยมีความรู้ด้านการฉายรังสีผักผลไม้ ต่อไปจะสนับสนุนการวิจัยแบบมุ่งเป้าเพิ่มขึ้น โดยวช.มีบทบาทในการให้ทุน หากเป้าชัด เช่น มะม่วงมีปัญหาส่งออกไม่ได้ จะทำอย่างไรให้สามารถส่งออกเข้าสหรัฐได้ วช.มีข้อมูลนักวิจัยอยู่ จะไปดูว่าใครเก่งเรื่องใด ซึ่งเรื่องมะม่วง นักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรสามารถทำได้ ทำให้ไทยสามารถส่งมะม่วงล็อตแรกไปสหรัฐฯเรียบร้อยแล้ว 300 กิโลกรัมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา และวช.ยินดีสนับสนุนงานวิจัยแบบมุ่งเป้าให้แก่ผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งผักผลไม้ไทยที่ส่งออกไป แต่ละประเทศมีข้อกำหนดแตกต่างกัน เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องอบไอน้ำ ส่วนประเทศในเครือสหราชอาณาจักรต้องรมควัน ส่วนสหรัฐ ต้องฉายรังสีก่อน”
รศ.ดร.สภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเริมและสนับสนุนการวิจัยแผนงนวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นวิจัยที่มุ่งพัฒนาเพื่อหาคำตอบให้การส่งออกมะม่วง จัดงานวันนี้เพื่อให้ชื่นชมในความสำเร็จของนักวิจัยไทย หลังจากส่งล็อตแรกไปแล้ว ใน 17-19 ตุลาคม 2562 ไทยจะไปร่วมงานแสดงสินค้าผักและผลไม้สด (PMA)ในสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งจะนำมะม่วงและผลไม้อื่น ๆไปจัดแสดง
ทั้งนี้ความสำเร็จในการฉายรังสีมะม่วงส่งออก ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กระบวนการจัดการตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยว หลังเก็บเกี่ยว การขนส่ง ฉายรังสีในห้องปฏิบัติการแล้วต้องใช้ได้ คุณภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ขายได้ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการที่เหมาะสมต่อไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย