กองทุนพัฒนาสื่อฯผนึกวธ.-เครือข่าย
เปิดเวทีชูพัฒนาสื่อ ปชช.ต้องช่วยกัน
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมจัดกิจกรรม รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทยประจำปี 2562 ภาคกลาง “ผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี” ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อน งานพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ใน 4 ภูมิภาค โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและรองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบรางวัลให้กับผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “TMF AWARDS 2019” และพิธีมอบรางวัล “ Less in more ปี 2 การประกวดผู้ผลิตสื่อภาพยนตร์สั้นสำหรับผู้พิการ” ภายในงานมีภาคีเครือข่าย องค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและรองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ ผ่านสื่อหลายรูปแบบ สื่อมีอิทธิพลต่อคนในสังคม และวิถีชีวิตมากขึ้น การส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทัน และมีวิจารณญาณในการบริโภคสื่อ ส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม จึงมีความสำคัญยิ่ง การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะไม่สามารถทำได้เลย หากปราศจากความร่วมมือ ของคนในสังคม และจากทุกภาคส่วน งานรวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย จึงเป็นงานสำคัญที่สร้างปรากฏการณ์การรวมตัวสื่อทุกแขนง เพื่อรวมพลังขับเคลื่อนให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์ ขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่ดีทั้งในมิติการรู้เท่าทันสื่อและการมีส่วนร่วม ให้มีบทบาทเพื่อการพัฒนา และการกำกับดูแลจริยธรรมสื่อ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กองทุนพัฒนาสื่อฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้จัดงานผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก ภาคีเครือข่ายมาร่วมงานอย่างคึกคัก ได้เห็นพลังที่เข้มแข็งของผู้ที่ผลิตสื่อ ทั้งสื่อพื้นบ้าน สื่อวัฒนธรรม และสื่อทุกแขนง ดังนั้นในระดับภูมิภาค เรามีการเชิดชูสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยการมอบรางวัล สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “TMF AWARDS 2019” ให้กับผู้ผลิตสื่อดีเด่น ทั้ง 3 ภูมิภาค เพื่อเป็นกำลังใจในการผลิตสื่อที่ดีต่อไป ส่วนการจัดงานที่ภาคกลางเป็นการรวมภาคตะวันออกและภาคตะวันตกไว้ด้วย โดยมีการแสดงผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากภาคี รวมถึงสัมมนาทางด้านวิชาการ พร้อมเปิดห้องให้ความรู้เยาวชนในเรื่องทักษะการใช้สื่อ เปิดใจถึงสื่อของเด็ก และนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
“กองทุนพัฒนาสื่อฯ มีวัตถุประสงค์หลัก คือส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สนับสนุน ประสานงานและเอื้ออำนวยให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้น โดยภาคีเครือข่ายทุกคนสามารถช่วยกันขับเคลื่อนสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะได้เห็นพลังของภาคีต่างๆมาร่วมผนึกกำลัง ศึกษา เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดในงานครั้งนี้” นายวสันต์ กล่าว
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ในฐานะที่ได้รับรางวัลประเภทสื่อสร้างสรรค์ภาษาถิ่นหรือภาษาไทย กล่าวว่า แผนงานของเราได้ขอทุนจากกองทุนสื่อฯ เพื่อนำไปจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการอ่านในระดับภูมิภาค ซึ่งผลตอบรับดีมาก ไม่คิดว่าจะมีการรวมตัวสื่อมากมายเช่นนี้ จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ทำให้ได้เห็นศักยภาพในการทำงาน เกิดการต่อยอดโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการปลูกฝังลูกรักเป็นนักอ่าน run for book เป็นต้น การลงพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้พบว่าข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย ผ่านการอ่านจากสมาร์ทโฟนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เยาวชนสามารถสร้างสารคดีผ่านสมาร์ทโฟนด้วยตนเอง ขณะเดียวกันยังมีช่องว่างระหว่างวัยของเด็กที่ไม่เหมะสมกับอุปกรณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่ออกมาเตือนอย่าให้เด็กเล็กอยู่หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน เด็กวัย 1-2 ขวบควรได้เรียนรู้สื่อเกี่ยวกับการเป็นมนุษย์หรือควรมีกิจกรรมการละเล่นอยู่บนพื้นมากกว่าติดหน้าจอ เพราะจะทำให้เด็กมีสมาธิสั้น ทั้งนี้อยากให้มีการรณรงค์เลือกสรรสื่อให้เด็กในสัดส่วนที่เหมาะสม
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันเป็นยุคของสื่อดิจิทัล ที่ผู้คนต้องอยู่คู่กับสื่อออนไลน์ แต่จะทำอย่างไรให้การเสพสื่อหรือเผยแพร่สื่อมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย ดังนั้นผู้ที่ต้องการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยควรมี 3 องค์ประกอบ ดังนี้ 1.ข้อมูลจริงที่สามารถตรวจสอบได้ 2.ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น และ 3.มีประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้ที่ผ่านมายังมีสื่อไม่สร้างสรรค์ รวมถึงสื่อลามกอนาจาร เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย แม้มีกฎหมายบังคับใช้กับสื่อ แต่สื่อเหล่านั้นก็ยังลอยนวล สื่อเหล่านี้มุ่งเป้าใช้ธุรกิจเป็นตัวนำ ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดก่อนที่กฎหมายจะทำงาน คือ การแทรกแซงทางสังคม โดยประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช้ ไม่แชร์ ไม่เชื่อ ไม่ซื้อ พยายามต่อต้าน เพื่อขับเคลื่อนให้เขาอยู่ในกติกาของสังคม แล้วสื่อนั้นจะหายไปเอง
นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเพจ toolmorrow ผู้ได้รับรางวัลสื่อส่งเสริมครอบครัวและสังคม ซึ่งเป็นเพจที่สื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ และการสื่อสารที่ดีเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน นายสุรเสกข์ กล่าวว่า เดิมทีทำหลายประเด็น จนสุดท้ายมาจบที่ประเด็นหลักในเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะค้นพบว่าปัญหาหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม หรือชีวิตผู้คนเกิดจากปัญหาครอบครัว เราจึงตั้งใจผลิตผลงานเพื่อสื่อสารออกมาในเรื่องความสัมพันธ์ และความเข้าใจที่ดีต่อกัน เพราะเชื่อว่าจุดนี้เป็นจุดเล็กๆ ที่มีพลังในการแก้ไข หากมีการพูดคุย สื่อสาร หรือทำความเข้าใจกันในครอบครัว จะส่งผลถึงความสัมพันธ์และความสุขในชีวิต จากจุดเล็กๆตรงนี้สามารถสร้างคนดี ไม่เป็นปัญหาสังคม รวมทั้งส่งผลต่อเนื่องไปสู่การสร้างสังคมที่ดี ผ่านการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน