กคช.รุกรับมือโลกอนาคตจัดแข่ง
‘สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย’
การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดกลยุทธ์โค้งสุดท้าย ปี 62 สอดรับปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรม จัดประกวด “สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย” ครั้งแรก ชิงเงินรางวัลร่วม 300,000 บาท เปิดเวทีนำเสนอไอเดียใหม่ๆ เพื่อ ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งอนาคต กำหนดรับสมัคร 19 กันยายน – 19 ตุลาคม 2562
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติมีบทบาทและภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของการอยู่อาศัย ทั้งด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดระยะเวลา 46 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศแล้ว 735,780 หน่วย สามารถตอบสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนทุกกลุ่มและทุกระดับรายได้
ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เป็นตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมือง ทำให้คุณภาพชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากอดีต และยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อความท้าทายของโลกแห่งอนาคต นอกจากนี้จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะขับเคลื่อนประเทศโดยใช้นวัตกรรม ทางกคช.จึงนำมาทำเป็นยุทธศาสตร์ที่จะนำวัตกรรมมาทำที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่กคช.ดูแล คือ กลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง หรือรายได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน
ดังนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 นี้ กคช. จึงจัดโครงการประกวด “สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย” (Smart Living) เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้มีความคิดสร้างสรรค์ได้นำเสนอแนวคิดหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยขึ้นเป็นครั้งแรก
โดย กคช. จะนำแนวคิดต่างๆ ไปเป็นแนวทางการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของ กคช. ในอนาคต กำหนดการเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน -19 ตุลาคม 2562
“โครงการประกวด “สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย” (Smart Living) เป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายของการเคหะแห่งชาติที่มุ่งให้เป็นปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรม (Year of Quality & Innovation) อีกทั้งต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอแนวคิดที่ตอบรับกับ Life style แบบใหม่ ทั้งในปัจจุบันและสังคมแห่งอนาคต โดยจะพิจารณาผลงานที่มีความเป็นไปได้ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสุขในการอยู่อาศัยในอนาคต มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ และมีความพร้อมในเชิงวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ดร.ธัชพล กล่าวต่อว่า “แนวทางของเราจะทำที่อยู่อาศัยราคาถูกกว่าท้องตลาดมาตอบสนองพี่น้องประชาชนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยขณะนี้เรากำลังทำบ้านที่เรียกว่า “สมาร์ทโฮม” เน้นการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกแบบโดยมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม มีวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น ใช้ฉนวนกันความร้อน ใช้อิฐมวลเบา และมีการออกแบบอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งเริ่มนำร่องแล้ว โดยร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ที่โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง
สำหรับโครงการสมาร์ทโฮมใหม่ที่กำลังคิดค้นจะเริ่มที่ต่างจังหวัด มองที่จังหวัดอุดรธานี เพราะราคาที่ดินไม่สูงมาก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวางแผน เสนอโครงการ น่าจะเริ่มก่อสร้างได้ราวต้นปี 2563 ส่วนในด้านราคาจะไม่แพง โดยพยายามนำนวัตกรรมมาช่วยเพื่อประหยัด ราคาเริ่มต้นคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท พื้นที่ขนาดราว 30 ตารางเมตร กลุ่มเป้าหมาย ผ่อนได้ยาวถึง 20 ปี โดยอยากให้ผ่อนในอัตราไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน ให้เหมาะกับกำลังความสามารถของผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง
ศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยโท ดร.พิชัย สดภิบาล
ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ (กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย)
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
สำหรับการประกวดในครั้งนี้เปิดกว้างสำหรับนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 16 – 35 ปี โดยแบ่งออกเป็นทีมละไม่เกิน 3 คน โดยผลงานส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นแนวคิดและนวัตกรรมการออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม แนวคิดนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์และวัสดุมาใช้เพื่อการอยู่อาศัย หรือแนวคิดการออกแบบ แอปพลิเคชันอัจฉริยะที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย การเงิน การตลาด และการบริการ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1.แนวคิดที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนเช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ 2.แนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์การใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เช่น เทคนิคในการก่อสร้าง 3.แนวคิดที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี เช่น การออกแบบวัสดุใหม่ ๆ ในการก่อสร้างเพื่อลดความร้อน ลดใช้พลังงาน และสามารถนำไปใช้งานได้จริง
ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลงานสุดยอดนวัตกรรม การเคหะแห่งชาติจึงแบ่งกระบวนการคัดกรองผลงาน ดังนี้ 1.คัดเลือกผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดให้เหลือเพียง 20 ผลงาน 2. นำ 20 ทีม ที่เข้ารอบ เข้าสู่การอบรมโดยวิทยากร (Guru Coaching) ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม และการตลาด 3. ทุกทีมที่เข้ารับการอบรมจะต้องนำข้อมูลความรู้ไปปรับปรุงรายละเอียดผลงานเพื่อนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ 4. คัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดเข้าสู่การเป็นสุดยอดนวัตกรรม และการตัดสินจากคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
ส่วนรางวัลโครงการประกวดสุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย คิดเป็นมูลค่าร่วม 300,000 บาท ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินสด จำนวน 150,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับเงินสด จำนวน 70,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับเงินสด จำนวน 30,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัล ได้รับเงินสด จำนวน 5,000 บาท
“โครงการผลงานที่เกิดขึ้นจะเป็นลิขสิทธิ์ของน้อง ๆนักศึกษาที่ออกแบบ และจะสนับสนุนต่อยอดให้นำไปใช้ในโครงการของคทช.”