สดร.-มจพ.หนุนอวกาศ-ดาวเทียม
สร้าง TSC-1 ดาวเทียมฝีมือคนไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศ เดินหน้าผลิตบุคลากร พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูง ร่วมขับเคลื่อน “ภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย” เตรียมสร้าง TSC-1 ดาวเทียมฝีมือคนไทยในอนาคต
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ ดร. สมฤกษ์ จันทร์อัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิศวกรรมดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านวิศวกรรมดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศ รวมถึงผลิตบุคลากรด้านดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศที่มีความรู้ความสามารถขึ้นภายในประเทศ พิธีลงนามฯ จัดขึ้นวันที่ 26 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมเออร์ซาเมเจอร์ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าวมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมดาวเทียมและวิทยาศาสตร์อวกาศระหว่างสองหน่วยงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน สนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาบุคลากร
แลกเปลี่ยนบุคลากร อาทิ นักวิจัย วิศวกร และนักศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนางานวิจัยร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด องค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่การสร้างโมเดลดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งนำมาใช้เป็นโมเดลต้นแบบสำหรับสร้าง TSC-1 ดาวเทียมฝีมือคนไทยภายใต้โครงการ “ภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย” ต่อไปในอนาคต
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอวกาศ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นหน่วยงานที่มีทั้งความสนใจและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ การร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรระหว่างกันจะยิ่งช่วยขยายขอบเขตการพัฒนาเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่ทั้งการพัฒนาดาวเทียมฝีมือคนไทยดวงแรก และต่อยอดไปเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร. สมฤกษ์ รองอธิการบดีฯ มจพ. กล่าวว่า เรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาดาวเทียมและส่งขึ้นไปโคจรให้สำเร็จ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ใหญ่มาก เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เราจึงพยายามที่จะพัฒนาบุคลากร และนำความรู้ต่างๆ มาต่อยอดในโครงการเสมอมา ทั้งการร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านดาวเทียม การขยายผลร่วมมือไปยังองค์กรด้านอวกาศในต่างประเทศ
สำหรับสดร. ผมมองว่า เรามีความฝันร่วมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ อีกทั้ง สดร. ยังมีโครงการพื้นฐานและบุคลากรที่มีศักยภาพมากพอที่จะสร้างดาวเทียมได้ หากได้ร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาดาวเทียม โครงการนี้น่าจะสำเร็จอย่างแน่นอน
โอกาสนี้ ดร.ศรัณย์ นำทีมผู้บริหารมจพ.เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีทัศนศาสตร์ ของ สดร. และเข้าเยี่ยมชมหอดูดาว ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรด้วย
สำหรับ “ภาคีความร่วมมือพัฒนาความสามารถเทคโนโลยีอวกาศไทย” (Thai Space Consortium : TSC) สดร. ริเริ่มและผลักดันให้เกิดความร่วมมือสำคัญของ 3 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กสำหรับวิจัย ออกแบบและสร้างโดยทีมวิศวกรและบุคลากรของ 3 หน่วยงาน นำไปสู่การสร้างประสบการณ์พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย และอนาคตจะเป็นพื้นฐานให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ คาดว่าจะสามารถส่งขึ้นสู่อวกาศได้ภายในปี 2567
ดาวเทียมดวงนี้ มีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม มี Payload หลัก ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ซม. ซึ่งออกแบบและสร้างโดย สดร. มี Payload รอง ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวัดที่ศึกษาสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และจะถูกส่งไปที่วงโคจร 500-800 กิโลเมตร