ธ.กรุงเทพผนึกมธ.สร้างคุณภาพ
“คน-สถานศึกษา-ระบบจัดการ”
ธนาคารกรุงเทพลงนาม 2 MOUม.ธรรมศาสตร์ สนับสนุน โครงการ “ก่อการครู:ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้” หวังช่วยผลักดันศักยภาพครูสู่แกนนำสร้างความเปลี่ยนแปลง และโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” ดึงทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสรรค์ “นักเรียน-ครู-สถานศึกษา-ระบบจัดการ” ให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
นางรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “ก่อการครู : ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้” เป็นโครงการพัฒนากาศึกษาให้แก่โรงเรียนประชารัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลงแก่นักเรียน โรงเรียน และชุมชนโดยรอบ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเรียนรู้และการศึกษาไทย
ขณะเดียวกันยังร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” เพื่อประสานความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาให้สถานศึกษากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิต โดยได้คัดเลือกโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม (ธนาคารกรุงเทพ 24) จ.นครสวรรค์ และโรงเรียนบ้านบางหมาก (ธนาคารกรุงเทพ 22) จ.ตรัง เข้าร่วมในโครงการนี้ ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียนเป็นโรงเรียนประชารัฐในโครงการ CONNEXT ED ระยะที่ 1 ที่ธนาคารให้การสนับสนุน
“ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาของไทยอย่างยั่งยืน และส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาบนสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้เพื่อเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ โดยกำหนดให้การส่งเสริมการศึกษาเป็นมิติหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคาร และเป็นโอกาสดีที่ธนาคารได้ร่วมสนับสนุนทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายการสร้าง “คน-สถานศึกษา-ระบบการจัดการ” ที่มีคุณภาพให้แก่สังคมไทย อันจะยังประโยชน์ต่อเยาวชนของชาติที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตด้วย” นางรัชนี กล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการ “ก่อการครู : ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้” เป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ด้วยตระหนักว่า ระบบการศึกษาเป็นระบบที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโครงสร้าง นโยบาย ระบบการจัดการกระบวนการ และทัศนคติของสังคมไปพร้อมๆ กัน โดยเล็งเห็นว่า ครูคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในระบบการศึกษา ในการพัฒนาศักยภาพเด็ก ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย
ด้านคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูที่จะเป็นผู้บุกเบิกและมีความมุ่งมั่นในการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบ active learning สร้างชั้นเรียนที่มีความหมาย มีความสุขและชีวิตชีวา รวมทั้งสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community – PLC) และคาดหวังว่าครูจะเป็นผู้ขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่นักเรียน ห้องเรียน โรงเรียนและชุมชนการเรียนรู้รอบโรงเรียน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมผ่านประสบการณ์ เพื่อบ่มเพาะทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ จิตใจที่มุ่งมั่น
สำหรับโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” มุ่งทำงานขับเคลื่อนการศึกษาใน 3 ระดับ คือ ระดับสถานศึกษา ระดับเครือข่าย และระดับนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมและการพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา รวมทั้งการมีส่วนร่วมทั้งจากชุมชน โรงเรียน และเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาและสังคม โดยมีเป้าหมายพัฒนาใน 4 ยุทธศาสตร์ คือ
- การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การพัฒนาทักษะชีวิต และอาชีพ
- การพัฒนาคุณภาพครู และ บุคลากรทางการศึกษา โดยการพัฒนาทั้งด้านความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และคุณลักษณะความเป็นครูให้มีศักยภาพในการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
- การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยการพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้มีความทันสมัย เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และ การพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
- การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดระบบบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ เกิดระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม
รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียน ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ธนาคารกรุงเทพ จะสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21