ทีม Eden Agritech แชมป์ GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง คว้าเงินทุน 1 ล้าน
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า โครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ภายใต้ Concept “BIG BOOM WoWทำได้เลย ทำได้เร็ว ทำได้จริง” ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป กลุ่มSMEs Startup ที่พร้อมทำธุรกิจจริงหรือทำมาแล้วไม่เกิน 3 ปี อายุไม่เกิน 35 ปี ร่วมสร้างสรรค์และส่งผลงานธุรกิจเข้าประกวด ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน-จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีเงินทุนเป็นเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดรวม 1,122 ผลงาน ขณะนี้โครงการฯได้ประกาศผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรางวัลชนะเลิศสุดยอดผลงานธุรกิจ (Product) ได้รับเงินทุน 1,000,000 บาท คือ ทีม Eden Agritech , ประเภทผลงานสุดยอดนวัตกรรมต้นแบบ (Prototype) ชนะเลิศได้รับเงินทุน 100,000 บาท ได้แก่ ทีม Tobacco , ประเภทผลงานสุดยอดแนวคิดทางด้านนวัตกรรม (Idea) ชนะเลิศ ได้รับเงินทุน 50,000 บาทได้แก่ ทีม Think Clean, Go Clean
โดยรางวัลชนะเลิศสุดยอดผลงานธุรกิจ (Product) ได้รับเงินทุน 1,000,000 บาท คือ ทีม Eden Agritech ผลงาน Naturen“นวัตกรรมสารเคลือบยืดอายุผักและผลไม้จากธรรมชาติอีเด็น” มีคุณสมบัติยืดอายุการเก็บรักษาผักผลไม้ได้ยาวนานมากขึ้นถึง 3 เท่า คงคุณภาพและคุณค่าสารอาหารอย่างเป็นธรรมชาติ มีความปลอดภัย ผลลัพธ์ของนวัตกรรมนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการผักและผลไม้ตัดแต่งสด โรงงานอาหาร สามารถขยายโอกาสทางการตลาดได้กว้างไกลขึ้น ทั้งในรูปการส่งออกตลาดต่างประเทศ หรือ วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าได้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยเหตุผล ที่กรรมการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะ เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่จะส่งผลยกระดับต่ออุตสาหกรรมในภาพกว้าง เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ผลไม้มากมาย
“โครงการประกวดGSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง นับจากวันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการมาถึงวันตัดสินรอบชิงชนะเลิศทั้งสิ้นรวม 5 เดือน ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการมีกระบวนการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจให้กับผู้เข้าร่วมประกวดฯ เพื่อต้องการให้กลุ่ม SMEs Startup ภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของธนาคารออมสิน มีศักยภาพและองค์ความรู้ที่แข็งแกร่ง สามารถแข่งขันในแวดวงธุรกิจได้อย่างมีคุณภาพ
และสำหรับปีนี้มีสิทธิพิเศษสำหรับผู้เข้ารอบ 100 ทีม ที่แผนงานมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ จะได้รับพิจารณาการสินเชื่อธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% นาน 1 – 2 ปี ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทหรือได้รับโอกาสร่วมทุนในลักษณะ Venture Capital อีกด้วย และสำหรับ 10 ทีมสุดท้ายนอกจากจะได้รับเงินทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจแล้วจะได้เข้าร่วมโปรแกรม Outing Startup โดยการร่วมศึกษาดูงานเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการในอนาคต จึงถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างมากที่ผู้เข้าประกวดได้รับโอกาสร่วมโครงการฯ นี้” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
โครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง นอกจากเงินทุนที่ธนาคารมอบให้แล้ว ตลอดช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการประกวดฯ ยังมีการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจ ผ่านกิจกรรม Workshop สำหรับผู้เข้ารอบ 100 ทีม และ Guru Coaching สำหรับผู้เข้ารอบ 30 ทีมสุดท้ายโดยเชิญกูรูธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ และวิทยากรผู้ชำนาญการมาให้ข้อมูล เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ และให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆ
ผลการตัดสินโครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ดังนี้
- ประเภทสุดยอดผลงานธุรกิจ(Product)10 รางวัล ประกอบด้วย
-ผลงานชนะเลิศ ได้รับเงินทุน1,000,000 บาท ทีม Eden Agritech ผลงาน Naturen“นวัตกรรมสารเคลือบยืดอายุผักและผลไม้จากธรรมชาติอีเด็น”
-ผลงานรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้รับเงินทุน 500,000 บาท ทีม PASS+ ผลงาน Pre-Aseptic-Sterilization System Plus การวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมนมโค ครบวงจร ด้วย ระบบยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ด้วยแสงความยาวคลื่นสั้น เพิ่มคุณภาพน้ำนมดิบสำหรับเกษตรกรฟาร์มโคนมขนาดเล็กและกลาง รางวัลนวัตกรรมโลกระดับจากเยอรมนีและเจนีวา โดยคนไทย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตอาหารแบบใหม่ ประสิทธิภาพได้รับการสอบเทียบ เทียบเท่ามาตรฐาน องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น อนุรักษ์อาชีพพระราชทานเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
-ผลงานรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับเงินทุน 200,000 บาท ทีม Easy Rice ผลงาน เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วยปัญญาประดิษฐ์ บริษัท อีซีไรซ์ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด ผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ประกอบด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Computing) ยกระดับเกษตรกรรมและสร้างความมั่นคงทางอาหาร เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “ข้าวหอม” ช่วยแก้ปัญหา”คอขวด”ของอุตสาหกรรมข้าว การใช้เครื่องจะใช้เวลาน้อย ลดต้นทุน การค้าเที่ยงตรง feedback ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และจัดเก็บข้อมูลได้
ผลงานรองชนะเลิศอันดับที่ 3 มี 7 ทีมได้รับเงินทุนผลงานละ 100,000 บาท
-ทีม Verily Vision ผลงาน Container Truck Gate Automation ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถบรรทุก และหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติมีความแม่นยำในการอ่านข้อมูลใช้เวลาประมวลผลน้อยเก็บข้อมูลได้ทั้งแบบ Text File และรูป Captured Image เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน Process Automation สำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมยุค 4.0 ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย
-ทีม Trash Lucky ผลงาน Trash Lucky แทรชลัคกี้ ขยะรีไซเคิลลุ้นโชค เพียงแต่แยกขยะรีไซเคิล และส่งเข้าร่วมโครงการจะได้รับตั๋วชิงโชคสำหรับลุ้นรางวัลหลายรายการ ปัจจุบันรางวัลใหญ่ 5,000 บาท ในอนาคตตั้งใจเพิ่มเป็นมูลค่า 1 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นการช่วยให้ประเทศไทยหลุดจากอันดับ 5 ที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลกด้วย สามารถรีไซเคิลขยะและลุ้นรางวัลเงินสดได้ในเวลาเดียวกัน ด้วยการเข้าร่วมโครงการ“ขยะรีไซเคิลลุ้นโชค”
-ทีม เอ็นเรส ผลงาน : ENRES Deep Learning for Solar ปัจจุบัน เกิดการสูญเสียเงินจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึง 30% คิดเป็นจำนวนเงิน 6,000 ล้านบาทต่อปี (ประเทศไทย) ENRES Deep Learning for Solar ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีกำไรที่สูงขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ตรวจสอบประสิทธิภาพคุณภาพของระบบและความคุ้มทุนอัตโนมัติตลอด 24 ชม. บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสูญเสียโอกาสการผลิตไฟฟ้าโดยไม่รู้ตัว
-ทีม ว่าง ผลงาน ว่าง:ตลาดข้อมูล (Wang:Data Market) คือ Crowdsourcing Platform ตลาดข้อมูลออนไลน์ที่นำเจ้าของข้องมูลและคนว่างงานมาพบกัน เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีเวลาว่าง เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ข้อมูลที่สร้างใน ว่าง จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนางานวิจัยของประเทศ รวมถึงช่วยให้ธุรกิจพัฒนา AI ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงแคมเปญการตลาดให้ดีขึ้น
-ทีม ViaBus ผลงาน ViaBus แอปพลิเคชันติดตามและนำทางระบบโดยสารแบบเรียลไทม์ในระบบ iOS และ Android แสดงตำแหน่งรถโดยสาร ค้นหาป้ายและสายเดินรถ แนะนำเส้นทางการเดินทาง และรองรับการแจ้งเหตุหากพบปัญหาใดๆ แพลตฟอร์มของ ViaBus เชื่อมระบบโดยสารต่างๆ เช่น รถเมล์ BTS MRT รถสองแถว และเรือโดยสาร เพื่อการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ปัจจุบันให้บริการในหัวเมืองหลักทั้ง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต อุดรธานี อุบลราชธานี และอีกกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ
-ทีม LAIKA ผลงาน LAIKA ขนมสุนัขเจ้าแรกและเจ้าเดียวในเอเชียที่นำเสนอแหล่งโปรตีนทางเลือกชั้นดีจากโลกอนาคต นำความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจ เป็นขนมสุนัขที่โปรตีนหลักมาจากแมลงออกแบบโดยสัตวแพทย์ ที่การันตีถึงความปลอดภัยและสารอาหารที่ดีให้กับน้องหมาของทุกคน
-ทีม ชาวเล ซีเกรป ผลงาน Dehydrated Caviar Seaweed นวัตกรรมยืดอายุสาหร่ายพวงองุ่นสดซึ่งชาวญี่ปุ่นยกย่องให้เป็นยาอายุวัฒนะ ธรรมชาติของสาหร่ายพวงองุ่นสด อายุ 3-7 วัน บริษัทคิดค้นนวัตกรรมยืดอายุเป็น 365 วันด้วยกรรมวิธีสาหร่ายเหี่ยว ช่วยให้คนเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นสามารถจำหน่ายได้ทั่วโลก ลดต้นทุนการขนส่งเพราะน้ำหนักเบาลงกว่า 40%
- ประเภทผลงานสุดยอดนวัตกรรมต้นแบบ (Prototype) 3 ผลงาน ดังนี้
-ผลงานสุดยอดนวัตกรรมต้นแบบอันดับ 1 เงินทุน 100,000 บาท ทีม Tobacco ผลงาน EnVi Quick-check ธุรกิจชุดตรวจคัดกรองโรคโดยใช้ antibody ที่สกัดจากใบยาสูบ ตรวจวัดชิ้นส่วนของเชื้อไวรัส EV71 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ร้ายแรงของโรคมือเท้าปาก โดยสามารถให้ผลการตรวจได้ไว ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก
-ผลงานสุดยอดนวัตกรรมต้นแบบอันดับ 2 เงินทุน 50,000 บาท ทีม บริษัท สเตปโซล จำกัด ผลงาน “บริการออกแบบแผ่นรองเท้าส่วนบุคคล วิเคราะห์อาการเจ็บเท้าโดยโปรแกรม แฮริสแมท และผลิตแบบ Rapid Prototype”
-ผลงานสุดยอดนวัตกรรมต้นแบบอันดับ 3 เงินทุน 30,000 บาท ทีม Smart box in Car ผลงาน Smart box in car ระบบส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออัตโนมัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แม้ในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
- ประเภทผลงานสุดยอดแนวคิดทางด้านนวัตกรรม (Idea)3 ผลงาน ดังนี้
-ผลงานสุดยอดแนวคิด อันดับ 1 เงินทุน 50,000 บาท ทีม Think Clean, Go Clean ผลงาน I am ผักตบ เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastics) ที่ทำจากผักตบชวา พัฒนาต่อยอดจากงานวิจัย สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ใน 3-6 เดือน เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก และปัญหาผักตบชวาอย่างยั่งยืน
-ผลงานสุดยอดแนวคิด อันดับ 2 เงินทุน 30,000 บาท ทีม Roentgen ผลงาน Roentgen เป็นการใข้ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อวินิจฉัยผลภาพทางรังสี
-ผลงานสุดยอดแนวคิด อันดับ 3 เงินทุน 20,000 บาท ทีม โชคดี ผลงาน LANDin (ลานดิน) ที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ / ช่วยให้การพัฒนาที่ดินไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์ที่ดินที่ใช้ AI ประมวลผลรวมทั้งการนำ Big data มาใช้ในการทำ feasibility study
ติดตามข้อมูลหรือความเคลื่อนไหวโครงการประกวดได้ที่ www.gsb100tomillion.com หรือ www.facebook.com/gsb100tomillion