มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ ชวนสูงวัยใส่ใจ “ไม่ล้มไม่พรุน”


มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนา “สูงวัยใส่ใจ “ไม่ล้มไม่พรุน” และ “กิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน” เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจกับเกี่ยวกับการป้องกันการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก

ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ (กลาง) กล่าวว่า “มูลนิธิฯ จึงจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความรู้ เรื่องโรคกระดูกพรุน ให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อหันมาใส่ใจการป้องกัน ระมัดระวัง และดูแลตนเองไม่ให้หกล้ม เนื่องจากการหกล้มในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก และมักเกิดการล้มซ้ำ นำมาซึ่งความทุพพลภาพ การสูญเสียคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายอันมหาศาล หรืออาจทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะการหกล้มในผู้สูงอายุที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะการหกล้มเพียงเบาๆ สามารถทำให้กระดูกหักได้



โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่ความแข็งแกร่งของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกมีความเปราะบาง และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น โรคกระดูกพรุนจัดเป็น “ภัยเงียบ” เนื่องจากไม่มีอาการ ผู้ป่วยหลายรายทราบเมื่อเกิดกระดูกหักขึ้นแล้ว ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสม ” ศ.ดร.นพ.ทวี กล่าว






รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อย และเป็น “ภัยเงียบ” ในสตรีวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนทำให้มีการสลายมวลกระดูกมากขึ้น จนมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนตามมา โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก

ดังนั้นแม้สตรีวัยหมดประจำเดือนจะไม่มีอาการของวัยทองใดๆ ก็ควรพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน เพราะโรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ นอกจากนี้ถ้าตรวจพบโรคกระดูกพรุนตั้งแต่แรกๆ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะป้องกันกระดูกหักจากกระดูกพรุนได้”
ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “การหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ กระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาการทรงตัว ปัญหาสายตา การกินยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ง่วงซึม รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม จะช่วยทำให้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการหกล้มที่จะเกิดขึ้นได้

การดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด และสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อผู้อื่น ให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

