ทีม ‘FinnVerr’ พัฒนาแอปหนุนการซื้อที่ดินคว้าแชมป์ประกวด”สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย”
การเคหะแห่งชาติ ประกาศผล “สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย” โดยทีม FinnVerr ได้รับรางวัลชนะเลิศ คว้าเงินรางวัล 150,000 บาท ด้วยแนวคิดออกแบบ FinnVerr เว็บไซต์และแอปพลิเคชันช่วยสนับสนุนการซื้อขายที่ดิน อัปเดตราคาประเมินที่ดินตรงกับราคาประเมินของกรมที่ดิน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการหาซื้อที่ดิน โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะแสดงข้อมูลเบื้องต้นให้กับผู้ใช้ (User) รวมถึงแสดงพิกัด GPS ให้ทราบ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถดูอัตราการกู้สินเชื่อของแต่ละธนาคารได้ และหลังทำสัญญาการกู้สินเชื่อแล้วยังสามารถเข้าดูภาระและหนี้สินที่มีการอัปเดตข้อมูลตลอดเวลาได้อีกด้วย
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ จัดโครงการประกวด “สุดยอดนวัตกรรมเพือการอยู่อาศัย” ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ทั้งนักเรียน นักศึกษา ได้ออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวเนื่องในการอยู่อาศัย โดยกำหนดให้ส่งผลงานตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ถึง 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง 231 ทีม และการเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกเหลือเพียง 20 ทีมสุดท้ายที่มีความโดดเด่นในการออกแบบที่อยู่อาศัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นไปได้ทางด้านเทคโนโลยี การตลาด และการลงทุนจนสามารถต่อยอดได้จริงในเชิงธุรกิจ ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมอบรมรอบ 20 ทีมสุดท้าย (Coaching Day) พร้อมได้พาเยี่ยมชมอาคาร SCG 100 ปี ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และเยี่ยมชมศูนย์ TIP GATEWAY Inspiration Chamber ของ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นการปลุกประกายความคิดของผู้เข้ารอบฯ 20 ทีมสุดท้าย ให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานปรับปรุงรายละเอียดการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การจัดโครงการประกวด “สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย” ในวันนี้ เป็นการให้ทีมผู้เข้าประกวดรอบ 20 ทีมสุดท้าย ได้นำเสนอผลงานเพื่อให้คณะกรรมการตัดสินความเป็นสุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.แนวคิดที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน 2.แนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์การใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และ 3.แนวคิดที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี และสามารถนำไปใช้งานได้จริง
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินสด จำนวน 150,000 บาท ได้แก่ ทีม FinnVerr
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับเงินสด จำนวน 70,000 บาท ได้แก่ ทีม Keyhomechecker
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับเงินสด จำนวน 30,000 บาท ได้แก่ ทีม MERLINUM และรางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัล ได้รับเงินสด จำนวน 5,000 บาท ได้แก่ ทีม PROPSUS (พร๊อพสัส) ทีม RichGirl ทีม New and Friend ทีม 2N ทีม Roomesh ทีม TheSpaze และ ทีม Citernist
นอกจากนี้ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มอบกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ ให้กับสมาชิกทุกคนในทีม โดยทีมชนะเลิศ ได้รับทุนประกันภัยมูลค่า 3,000,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันอับ 1 ได้รับทุนประกันภัย มูลค่า 2,000,000 บาท และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับทุนประกันภัยมูลค่า 1,000,000 บาท
สำหรับผลงานของทีมที่ได้รับรางวัลเป็นความคิดสร้างสรรค์และน่าสนใจ ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม FinnVerr นำเสนอเวบไซต์และแอปพลิเคชั่นช่วยสนับสนุนการซื้อขายที่ดิน โดยอัพโหลดโฉนดที่ดินในแอปฯและใส่รายละเอียดรูปภาพของที่ดิน อัพเดตราคาประเมินที่ดินกับทางกรมที่ดิน ใช้แอปฯในการหาซื้อที่ดิน เมื่อเลือกที่ดินจะมีfilter ให้เลือกตามความต้องการ จังหวัด ตำบบลและอำเภอ จากนั้นข้อมูลคร่าว ๆ จะแสดงให้เห็น รวมถึงพิกัด GPS หากสนใจซื้อสามารถดูอัตราการกู้สินเชื่อแต่ละธนาคารได้ หลังทำข้อตกลงกู้ สามารถดูภาระและหนี้สินซึ่งมีการอัพเดทข้อมูตลอดเวลา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Keyhomechecker นำเสนอระบบรายงานการตรวจรับบ้านแบบอัตโนมัติ โดย Keyhomechecker ประกอบด้วยแอปพลิเคชั่นตรวจรับบ้านก่อนโอน ที่สามารถชี้ข้อบกพร่องรวมถึงวิธีการแก้ไขให้แก่โครงการทราบเบ็ดเสร็จหน้างานในทันที รวมถึงการจัดทำแผนการ Cross-sale สินค้าอื่นที่เกี่ยวกับตัวบ้าน เช่น ผ้าม่าน งานบิลต์อินเฟอร์นิเจอร์ หรืองานต่อเติมบ้านทั่วไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนสื่อกลางในการนำผู้ซื้อพบผู้ขายอีกด้วย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม MERLINUM เสนอผลงาน Smart Door Save Life ประตูกู้ชีพ ชะลอไฟ IOT นวัตกรรมต่อยอดจากงานวิจัยของห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องมือทางการแพทย์และสิ่งแวด้อม ผสมผสานกับแนวคิดนวัตกรรมบ้านยุคใหม่ นำระบบ IOT มาใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยประตูกู้ชีพ ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของระบบ IOT ในห้องโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประตู ทั้งการติดตั้งเซนเซอร์ไว้ภายใน ระบบควบคุมและประมวลผล จอสัมผัส ระบบสื่อสารไร้สาย รองรับการสื่อสารกับเซนเซอร์และอุปกรณ์ IOT ต่าง ๆ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นระบบฟอกอากาศและจำกัดควันในประตูด้วย
รางวัลชมเชย 7 รางวัล ได้แก่
1,ทีม PROPSUS ได้เสนอแพลตฟอร์มเพิ่มศักยภาพในการเจรจาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการและเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้ปิดการขายได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้นกว่า 70%
2.ทีม RichGirl เสนอผลงานเตียงอัจฉริยะ ที่มีฟังก์ชันและการดีไซน์ล้ำสมัย โดยสามารถ Sync กับ Smart Phone ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ของระบบสมาร์ทโฮม มีฟังก์ชันทำงานได้ 5 หน้าที่ คือ วิเคราะห์และติดตามรูปแบบการนอนหลับ 2. ปรับสรีระการนอนให้อยู่ในท่าสบายที่สุด 3. ปรับอุณหภูมิพื้นผิวเตียงสำหรับผู้ใช้งาน 2 คน 4.วัดอัตราการเต้นของหัวใจผู้ใช้งาน 5.จัดเก็บที่นอนอัตโนมัติ
3.ทีม New and Friend นำเสนอระบบสมาร์ทโฮมบนแพลทฟอร์ม IOT (Internet of thing) ชื่อว่า SAYHOUSE โดยเป็นระบบควบคุมพลังงานและความปลอดภัยภายในบ้าน ประกอบด้วยแอปพลิเคชั่นบนมือถือและอุปกรณ์ IOT เพื่อจัดการปัญหาด้านพลังงานในบ้านให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด แจ้งเตือนเมื่อเกิดไฟฟ้ารั่วแบบเรียลไทม์ สามารถให้คำแนะนำเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการค่าไฟและกรณีใช้ไฟฟ้าเกินปกติ
4.ทีม 2N นำเสนอระบบตรวจสอบฝุ่น “Dust Warning System Around The Home” โดยในระบบใช้เซนเซอร์ตรวจจับฝุ่นบริเวณบ้าน สามารถตรวจได้ตั้งแต่ขนาด PM 1 ,PM 2.5,และPM 10 แล้วประมวลส่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ ทำให้เจ้าของบ้านสามารถดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์จากเวบไซต์และส่งข้อมูลไปยัง PushingBox API เพื่อเก็บข้อมูลการตรวจจับในแต่ละวัน สามารถดูค่าปริมาณที่ผ่านมาและคาดคะเนปริมาณโดยรวมในวันต่อมา หากเกินค่ามาตรฐานและเริ่มส่งผลเสียต่อสุขภาพระบบจะมีการแจ้งเตือนผ่านทาง SMS ทางแอปพลิเคชั่น LINE
5.ทีม Roomesh ได้นำเสนอโครงการ One stop service แพลตฟอร์บริการจัดการการปล่อยเช่าครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการให้บริการปล่อยเช่า ช่วยจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ agent โดยรวบรวมข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลรายการอสังหาริมทรัพย์ จับคู่และเสนอรายการอสังหาริมทรัพย์ตามความต้องการลูกค้า ช่วยลดกระบวนการค้นหา
6.ทีมTheSpaze เป็นแพลตฟอร์มรีวิวอสังหาริมทรัพย์ จากผู้อยู่อาศัยจริงเพื่อสังคมที่น่าอยู่และมีคุณภาพทั้งผู้อยู่อาศัยปัจจุบัน หรือคนที่เคยอยู่มาก่อน หรือคนที่เคยมาดูอสังหาริมทรัพย์ ทำการรีวิวเรื่องต่างๆบนแพลทฟอร์ม และมีระบบการคำนวณ Rating Score ที่สำคัญระบบมีการตรวจสอบถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลรีวิว รวมถึงให้คะแนนคนที่มารีวิวด้วย (เพื่อให้การตัดสินใจซือหรือเช่าง่ายขึ้น)นำไปสู่การพัฒนาเมืองแต่ละท้องที่ให้ดียิ่งขึ้น
7.ทีม Citernist นำเสนอผลงาน EV Charger Tycoon ซึ่งจากสถิติพบว่า รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งประเภท HEV/PHEVและประเภท BEV ในขณะที่จำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ปี 2562 มีจำนวน 1,400 จุด ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ EV Charger Tycoon เป็นปลั๊กอินที่เชื่อมต่อระหว่างไฟบ้านกับแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สามารถคำนวณปริมาณไฟฟ้าที่ถูกปล่อยสำหรับเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นมูลค่าตามมาตรฐานแท่นชาร์จในปัจจุบัน ผู้ที่มีแท่นชาร์จของตัวเองจะมีรายได้จากผู้มาใช้บริการ ส่วนผู้ไม่มีแท่นชาร์จสามารถค้นหาแท่นชาร์จบริเวณใกล้เคียงผ่าน โมบาย แอปพลิเคชั่น ได้