โอกาสทอง.ธุรกิจบริการโลจิสติกส์พื้นที่ EEC - SEC สมัครติวเข้มยกระดับสู่ Smart Logistics ฟรี!
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดหลักสูตรติวเข้ม Smart Logistics นำร่องพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และ SEC ตอกย้ำการเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พุ่งเป้าติดอาวุธทางปัญญาให้ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นหลัก สามารถบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างชาญฉลาด เปิดสมัครแล้ววันนี้ที่ www.dbd.go.th
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศ และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายการพัฒนาในเชิงพื้นที่ของรัฐบาล โดยการกำหนดพื้นที่เป้าหมายจะช่วยสร้างความชัดเจนในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ตรงจุดได้
ทั้งนี้ มีกำหนดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ยกระดับธุรกิจสู่ Smart Logistics” ภายใต้กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC และ SEC) ยุคดิจิทัล เริ่มอบรมนำร่องจำนวน 2 รุ่น ได้แก่
รุ่นที่ 1 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2563 ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา และรุ่นที่ 2 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม CBD 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยมีจุดประสงค์เพื่อติดอาวุธให้ธุรกิจโลจิสติกส์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีซึ่งประยุกต์ใช้กับองค์กรเพื่อประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดได้ และใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างชาญฉลาด ที่สำคัญสามารถแข่งขันกับธุรกิจโลจิสติกส์ต่างชาติได้
อธิบดี กล่าวต่อว่า “สำหรับกิจกรรมในหลักสูตรจะเน้นการให้ความรู้ ปรับแนวคิดการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรและการบริการ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติ (Workshop) พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีและเรียนรู้ประโยชน์ของการใช้ระบบ BI (Business Intelligence) ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยบริหารจัดการด้านธุรกิจ อาทิ การเงินและการบัญชี, งานขาย, งานบุคคล และการบริหารทรัพยสินในองค์กร รวมถึงช่วยรวบรวมข้อมูล จัดเก็บ วิเคราะห์ และวางแผนกลยุทธ์ของธุรกิจในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของธุรกิจ”
“โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนผู้ให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ที่สนใจสมัครเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวได้ตั้งแต่วันนี้ (รับจำนวนจำกัด) ได้ที่ www.dbd.go.th เลือก หัวข้อ ข่าวประชาสัมพันธ์
ทั้งนี้เมื่อโลกเข้าสู่ยุคของการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยจึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย พร้อมกับนำเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงข้อมูลสารสนเทศเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ อันจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทำให้ประเทศไทยมีการขยายตัวทั้งในส่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ
ซึ่งเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มมากขึ้น” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562) มีนิติบุคคลให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,437 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 10.94 (3,098 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 22,645.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 0.61 (22,507.26 ล้านบาท) แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรี 2,458 รายทุนจดทะเบียน 15,659.45 ล้านบาท จังหวัดระยอง 618 ราย ทุนจดทะเบียน 4,122.52 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 361 ราย ทุนจดทะเบียน 2,863.06 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในเขต EEC คิดเป็น 89.67 % จากจำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคตะวันออก
สำหรับนิติบุคคลให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ SEC มีจำนวนทั้งสิ้น 637 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 13.95 (559 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 2,850.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 19.97 (2,376.05 ล้านบาท) แบ่งเป็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี 354 ราย ทุนจดทะเบียน 1,707.41 ล้านบาท จังหวัดระนอง 54 ราย ทุนจดทะเบียน 425.07 ล้านบาท จังหวัดชุมพร 84 ราย ทุนจดทะเบียน 393.65 ล้านบาท และนครศรีธรรมราช 145 ราย ทุนจดทะเบียน 324.51 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในเขต SEC คิดเป็น 30.86% จากจำนวนธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้