‘โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็ก’ เรื่องไม่เล็ก ที่พบได้บ่อย
โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจจัดว่าพบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคภูมิแพ้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในเด็กหรือผู้ใหญ่ จึงเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สังคมมีความเป็นเมืองมากขึ้นมีปัญหามลภาวะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ปัญหาของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กเกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ เช่นเดียวกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ คือ 1.กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด หากคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจหรือโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจมากกว่าเด็กปกติที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้
2. สิ่งแวดล้อม อยู่รอบตัวเด็กทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ สุนัข แมว ละอองเกสร หรือสารก่อภูมิแพ้ซึ่งเป็นอาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี อาหารทะเล หรือสารระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป มลภาวะต่างๆและการติดเชื้อในระบบทางดินหายใจเช่น อาร์เอสวี rhinovirus ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นสาเหตุร่วมกันในการเกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจในเด็กได้ โดยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจในเด็กที่พบบ่อยได้แก่โรคหืดและโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคภูมิแพ้ที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเตาะแตะ คืออายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยจึงมักเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยอนุบาลนั่นเอง
โรคนี้เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูก ผู้ป่วยจะมีอาการ ได้แก่ คันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหลและอาจมีอาการร่วมของอวัยวะอื่นๆที่ไม่ใช่จมูกแต่มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น คันตา คันในคอ หูอื้อ ร่วมด้วยได้ และใสส่วนโรคหืด เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้ตั้งแต่เด็กวัยทารก ผู้ป่วยจะมีปัญหาของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างคือ หลอดลม มีอาการได้แก่ หายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ไอเรื้อรังช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เหนื่อยง่ายขณะออกกำลังกายซึ่งเกิดจากการที่มีหลอดลมตีบ
ทั้งนี้หลักในการรักษาโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจในเด็กมีอยู่ 5 ข้อ คือ 1.หลีกเลี่ยงหรือควบคุมสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุดตามชนิดสารก่อภูมิแพ้ 2.การดูแลสุขภาพทั่วไป คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบหมู่ 3.การใช้ยาบรรเทาอาการ โดยการจะพิจารณาใช้ยาชนิดใดบ้างขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรคและระยะของโรคของผู้ป่วยโดยอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่เป็นผู้ทำการรักษาค่ะ 4.ล้างหรือพ่นจมูกด้วยน้ำเกลือ หากผู้ป่วยมีอาการมีน้ำมูก คัดจมูก
5.การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ มีข้อบ่งชี้คือ หากหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ไม่ได้ หรือมีอาการรุนแรงหรือใช้ยาบรรเทาอาการแล้วไม่ได้ผล โดยภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้หากคุมอาการของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจได้ไม่ดี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคหืด หรือต่อมอะดีนอยด์และทอลซิลโต ภาวะนี้นำมาซึ่ง “ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ” ซึ่งอาจเป็นอันตรายทำให้สมองขาดออกซิเจนมีผลต่ออวัยวะภายในที่สำคัญเช่นสมองและหัวใจอีกด้วย ในส่วนของโรคหืดหากปล่อยให้อาการของโรคหืดในเด็กดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสมอาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะอาการหืดกำเริบบ่อย ซึ่งการจับหืดแต่ละครั้งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรค จนต้องขาดเรียน ลดความสามารถในการเรียนและการออกกำลังกาย การเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ และหากมีอาการหลอดลมตีบมากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดออกซิเจนจนนำมาซึ่งภาวะการหายใจล้มเหลวเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
หากลูกมีอาการของโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกมาปรึกษาคุณหมอเพื่อจะได้รับการวินิจฉัย ประเมินความรุนแรงของโรค นำมาซึ่งการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน และยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหายขาดจากโรคนี้ได้ หากมารักษาตั้งแต่ยังมีอาการไม่มาก