วช.-จุฬาฯ สร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกศักยภาพสูง สร้างงานวิจัยคุณภาพเผยแพร่ในระดับนานาชาติภายใต้โครงการคปก.-C2F
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการสนับสนุนทุนปริญญาเอกศักยภาพสูง ภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 (C2F) โดยต้องผลิตผลงานวิจัยในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติ ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “เงินทุนจาก C2F ได้เสริมพลังให้ผลงานวิจัยของจุฬาฯ ไปสู่เป้าหมายทัดเทียมในระดับนานาชาติ เป็นที่น่ายินดีที่ในปี 2562 มีนิสิตปริญญาเอกของ จุฬาฯ ที่สามารถรับทุน คปก. รุ่น 22 ควบคู่ไปกับทุน C2F จุฬาฯ รวม 11 ทุน และ มีอาจารย์ที่ปรึกษา จำนวน 10 ท่าน จาก 6 คณะ คือ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย
ความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคที่กำหนดให้นิสิตรับทุนได้เพียงทางเดียว โดยมุ่งเพิ่มคุณภาพผลผลิตงานวิจัยให้มีคุณภาพสูง ตั้งเป้าผลิตผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติชั้นนำระดับ top 10% ( Tier 1)
“ความร่วมมือนี้คาดหวังว่าจะทำให้มีผู้สมัครที่มีศักยภาพสูงสนใจเรียนต่อปริญญาเอกเข้ามารับทุนในโครงการทุน คปก. และ C2F เพิ่มมากยิ่งขึ้น และนิสิตปริญญาเอกที่เรียนจบสามารถต่อยอดเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกศักยภาพสูง หรือ Postdoc ด้วยทุน C2F จุฬาฯ ได้อีกด้วย” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า “ทุน คปก.เป็นทุนที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ วช. โดยให้การสนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าตอบแทนอาจารย์ที่ปรึกษา ทุนทำวิจัย และเงินสนับสนุนการทำวิจัยต่างประเทศ ในขณะที่โครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 (C2F) ได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นิสิตปริญญาเอกศักยภาพสูงที่ให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยต้องผลิตงานวิจัยคุณภาพ สูงขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ทุนการศึกษาทั้งสองส่วนหนุนเสริมให้นิสิตปริญญาเอกสามารถสร้างงานวิจัยคุณภาพสูงตีพิมพ์ ในวารสารนานาชาติชั้นนำระดับ top 10% จึงเปิดโอกาสให้สามารถรับทุนทั้งสองแหล่ง โดยสนับสนุนไม่เกินจำนวน ที่ได้รับสูงสุดของส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งนิสิตจะได้รับทุนการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 30,000 บาท รวมทั้งการสนับสนุนอื่นๆ”
“ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงถึงทิศทางการทำงานร่วมกันที่ทั้งสองหน่วยงานมุ่งตอบสนองผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ทาง วช. ยินดีร่วมมือกับจุฬาฯในการสนับสนุนการดำเนินการในลักษณะนี้ เพราะจะส่งผลต่อผลงานการวิจัยที่มีคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยที่ทัดเทียมมหาวิทยาลัย ชั้นนำในระดับโลก” ผู้อำนวยการ วช. กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ได้ร่วมเป็นพยานในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้