“บ.ดาว” ชวนเยาวชนไทยร่วมจัดการปัญหาขยะ เปิดเวที Dow-CST Award ครั้งที่ 7 ชิงรางวัลกว่า 2 แสนบาท
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (DOW-CST AWARD) ประจำปี พ.ศ. 2562 ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยมีครูและนักเรียนทั่วประเทศร่วมประชันไอเดียการจัดการขยะด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ ชิงทุนการศึกษาและโล่เกียรติยศรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท ณ จามจุรี สแควร์ ชั้น G
นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมประกาศผลการคัดเลือกประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” โดยในปีนี้มีครูและนักเรียนได้ประยุกต์ใช้เทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วน (Small-Scale Chemistry Laboratory) อย่างสร้างสรรค์เพื่อร่วมจัดการปัญหาขยะ
โดยมีทีมที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ รวมทั้งสิ้น ประมาณ 40 ทีม และมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศทั้งสิ้น 20 ทีม แบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6 ทีม และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 14 ทีม ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมจะได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวิลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2020) ที่จะจัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้
“Dow เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องการสร้างจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในปีนี้ โครงการฯ จึงได้กำหนดธีมการประกวดภายใต้หัวข้อ “การจัดการขยะและของเสีย (Waste Management)” โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนและครูที่ปรึกษานำเสนอไอเดียที่น่าสนใจ สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะสามารถนำแนวคิดจากโครงการเหล่านี้ไปต่อยอดเพื่อการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนต่อไป”นายสุพจน์ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า โครงการฯ เห็นถึงประโยชน์ของเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยให้วิชาวิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงได้ง่าย เรารู้สึกยินดีที่ได้ร่วมส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาและเยาวชนสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำมาพัฒนาเป็นสื่อในโครงงานวิทย์ฯ ซึ่งสามารถปรับใช้กับบทเรียนในชั้นเรียนที่ช่วยเพิ่มสีสีนให้กับการเรียนวิทยาศาสตร์ พร้อม ๆ กับช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย สนับสนุนการเรียนการสอนที่ทั้งครูและนักเรียนสามารถเป็นนักคิดและพัฒนาเสริมสร้างนวัตกรรมโดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในยุคประเทศไทย 4.0
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า เราเชื่อว่า วิทยาศาสตร์สามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายต่าง ๆ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมโลกได้ การประกวชดในปีนี้ จึงสนับสนุนให้ครูและเยาวชนได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาคิดค้นวิธีการจัดการขยะและของเสียด้วยเทคนิคและนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ สอดรับกับทิศทางการตื่นตัวของประเทศไทยในด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กลับคืนมาอีกครั้ง
โครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” หรือ Dow Chemistry Classroom ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาเคมีด้วยใช้เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนที่มีความปลอดภัยสูง ใช้ปริมาณสารเคมีน้อย ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณของเสีย และให้นักเรียนได้มีโอกาสลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง
รวมทั้งยังมีกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาวิชาเคมีอื่น ๆ ประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการการทดลองเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปใช้บูรณาการการเรียนการสอนตามหลักสูตร รวมทั้งการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบดีเด่นให้เป็นเทรนเนอร์เพื่อเผยแพร่เทคนิคอันเป็นประโยชน์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมการติดตามผลและประเมินกระบวนการสอนเพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิคการเรียนการสอนร่วมกัน ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ผ่านการทดลองทำด้วยตนเอง เพื่อสร้างความรักในการศึกษาวิชาเคมีให้กับเยาวชนไทยที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติและสังคมต่อไปในอนาคต
ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมกว่า 7 ปี มีคณาจารย์กว่า 2,000 คน จาก 762 โรงเรียนทั่วประเทศ และมีนักเรียนกว่า 100,000 คน ที่ได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้รับความสนใจและมีการขยายผลองค์ความรู้ให้กับครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการร่วมเข้ารับการถ่ายทอดเทคนิคการเรียนการสอนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่องอันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคตต่อไป