ม.เกริก ติดอาวุธนักศึกษาครบเครื่อง มุ่งสู่อาเซียน เน้นทำวิจัยร่วม-เพิ่มภาวะผู้นำตั้งรับการเปลี่ยนแปลง
ม.เกริก จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติระดมความคิด “การพัฒนาทางด้านวิชาการระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน” ขานรับแนวคิดตั้ง 3 สถาบันขึ้นภายใน มุ่งติวเข้มพัฒนาคุณภาพลูกศิษย์รอบด้าน ชูทำวิจัยร่วมต่างชาติ เพิ่มภาวะผู้นำ และรู้วิธีตั้งรับการเปลี่ยนแปลง ให้พร้อมเข้าสู่ตลาดอาเซียน
ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก กล่าวในงานประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี 2020 จัดขึ้นในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนาทางด้านวิชาการระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน นักวิชาการที่มีชื่อเสียงจากประเทศสหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี ญี่ปุ่น และประเทศใกล้เคียง 9 ท่าน เข้าร่วมการประชุม ว่า การจัดงานดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่าความคิดของ ม.เกริก มาถูกทางแล้วที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการวิจัย ซึ่งการวิจัยจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นในการเรียนการสอน และยังสามารถนำไปสู่แนวความคิดใหม่ๆ ที่เราเรียกว่านวัตกรรม เพื่อเสริมศักยภาพการเรียนการสอนให้มีความเข้มเเข็งมากยิ่งขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมของลูกศิษย์ของเรา ทั้งบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตให้พร้อมที่จะทำการวิจัยร่วมกับคนอื่น ประเทศอื่น หรือภูมิภาคอื่น ด้วยเหตุนี้ทางมหาวิทยาลัยได้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยไทย-ไชน่า อาเซียน” ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการทำวิจัยร่วมกันแบบองค์รวม นอกจากจะรองรับนโยบายของกระทรวงแล้ว ยังเป็นการรองรับนโยบายระหว่างประเทศที่เราจะต้องทำงานวิจัยร่วมกันด้วย
ศ.ดร.นพ.กระแส กล่าวว่า นอกจากนักศึกษาใหม่จากจีนที่เข้ามาเรียนในประเทศไทย รวมทั้งที่ ม.เกริก มีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ จากหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย อเมริกา ออสเตรเลียหลายแห่ง คิดว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของเรา ในการเป็นตัวอย่างการส่งเสริมการเรียนรู้ และการวิจัย แทนที่เราจะมาพูดว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การเรียนการสอน หรือมหาวิทยาลัยต้องล่มสลาย ซึ่งจะทำให้ไม่สบายใจกัน แต่ถ้าเราคิดว่าจะสร้างคนให้มีภาวะผู้นำ สามารถใช้เทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยทาง ม.เกริก ได้ตั้ง “สถาบันพัฒนาภาวะผู้นำ” ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ ซึ่งภาวะผู้นำ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต แม้จะจบปริญญาระดับเท่าเทียมกัน แต่ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่เท่ากัน เพราะมีภาวะผู้นำไม่เท่ากัน จึงอยากจะเห็นการพัฒนาภาวะผู้นำไปพร้อมกับการเรียนรู้
อธิการบดี ม.เกริก กล่าวอีกว่า จีนถือว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญในภูมิภาคนี้ ยิ่งตอนนี้ประเทศจีนมีนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เราจึงต้องสร้างบุคลากรให้มีภาวะผู้นำ เพื่อให้ทำงานเข้ากับคนอื่นได้ และให้งานสำเร็จทุกอย่าง โครงการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องมีอุปสรรค เราต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมด้วยเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ทางมหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งสถาบันการจัดการความปลอดภัยขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักผลของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ให้รู้จักวิธีตั้งรับ หรือรับมือถึงปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดเหตุปัญหาหรืออันตรายขึ้น
สำหรับงานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-17 ม.ค. ได้มีการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย – จีน และการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากสถาบันการศึกษาภายนอกเข้าร่วมด้วย มีการเชิญนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมาให้การบรรยาย ในรูปแบบการอภิปรายแบบโต๊ะกลม และแบ่งกลุ่มดำเนินการจัดการอภิปรายระหว่างนักศึกษาจากคณะวิชาต่างๆ ทั้งหมด 16 กลุ่ม ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ของระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยการอภิปรายทั้ง 3 วันนี้ มีวิทยานิพนธ์เข้าร่วมมากถึง 100 เล่ม นอกจากนี้ภายในงานได้มีการนำวิทยานิพนธ์ทางการศึกษาจำนวนมากกว่า 60 เล่ม และโปสเตอร์วิทยานิพนธ์กว่า 100 แผ่น มาตรวจสอบคุณภาพเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขและพัฒนาให้วิทยานิพนธ์ได้รับการยอมรับที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นและเหมาะสมแก่การได้รับรางวัล โดยจะทำการมอบรางวัลให้กับวิทยานิพนธ์ที่ดีที่สุด เพื่อเป็นการผลักดันผลงานไปสู่วิชาการระดับนานาชาติต่อไป.