สธ.ร่วมภาคีเครือข่ายประชุม ประเมินผลคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย


กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการ Joint Assessment Mission to Review Alcohol Control Policy and Strategy Thailand 2019 เพื่อประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ รวมถึงประเด็นการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนทางการเมืองกลไกการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดการประชุม Joint Assessment Mission to Review Alcohol Control Policy and Strategy Thailand ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 พร้อมด้วย นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งทางประเทศไทยได้กำหนดนโยบายและแผนงานที่เข้มแข็งและก้าวหน้าเพื่อควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกฎหมายทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเพื่อควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยกฎหมายที่สำคัญในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และป้องกันผลกระทบอันไม่พึงประสงค์จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ในการประชุม Joint Assessment Mission to Review Alcohol Control Policy and Strategy Thailand ซึ่งการประเมินครั้งนี้เป็นไปตามกำหนดเวลาและสอดคล้องกับเป้าหมายของ SDG และวาระการประชุมสมัชชาอนามัยโลก รวมถึงการสำรวจความสามารถในการประเมินประเทศของโลกที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2562 การควบคุมแอลกอฮอล์เป็นงานที่สำคัญลำดับต้นๆ ของงานภายใต้ยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกและยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย นอกจากนี้ภารกิจนี้จะสนับสนุนการผลักดันนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศไทย

ด้านนายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ออกมาตรการแนะนำสำหรับการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์มีทั้งหมด 5 มาตรการซึ่งเป็นมาตรการที่ควรดำเนินการที่สุดและมีความคุ้มค่าหรือเรียกว่า “SAFER” ได้แก่ 1.มาตรการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.มาตรการทางภาษีและราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.มาตรการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่ม และ 5.มาตรการคัดกรองและบำบัดรักษาอย่างสั้น ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติฉบับที่ 1 ของประเทศไทยจะสิ้นสุดลงในปี 2563 นี้ จึงต้องเตรียมข้อมูลสำหรับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฉบับถัดไป และจะเป็นข้อมูลสนับสนุนในการรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ต่อไป


การประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วยทีมผู้ประเมินระดับประเทศ 6 ท่าน ผู้ประเมินระดับโลก 6 ท่าน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ได้ต้อนรับผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ผู้แทนสหประชาชาติ และนักวิชาการผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้จะสนับสนุนการขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเชิงนโยบายของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก