สวทช.จับมือมจธ.-มจพ. อบรมบรรจุภัณฑ์สำหรับ SME หนุนศักยภาพ กำไร รายได้โต
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้เป็นการส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการ SME ในทุกระดับ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และธุรกิจรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่งเริ่มสร้างธุรกิจ ซึ่งประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับองค์ความรู้ทำให้ทราบถึงแนวโน้มสำหรับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจากวิทยากรที่มีความชำนาญทางด้านบรรจุภัณฑ์ รวมถึงได้รับความรู้ในส่วนของขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจที่มีอยู่ ทำให้สามารถปรับตัวอยู่รอดในกระแสโลกปัจจุบันที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกที่เกิดการชะลอตัว และมีภาวะแข่งขันสูงมากได้
“ในการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้ด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีการออกแบบให้เหมาะสมกับสินค้าที่จะบรรจุ รวมทั้งการออกแบบเพื่อผลิตได้จริง โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์-กายภาพ ทางการผลิต และโปรแกรม ITAP สวทช. ภายใต้โครงการ “การยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ถือเป็นการบูรณาการโดยใช้กลไกความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด โดยมุ่งเน้นสร้าง “ห่วงโซ่คุณค่า” เพื่อให้สถานประกอบการมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณค่าของธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ตอบสนองต่อการเพิ่มจุดแข็งด้านการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพและเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ประเทศไทยศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืนต่อไป”
ด้านผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP และหนึ่งในวิทยากรงานสัมมนา ดร.นิทัศน์ ทิพยโสตนัยนา ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ความรู้ในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง สินค้าที่ผลิตล้วนต้องมีบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย เนื่องจาก SME เป็นกลุ่มธุรกิจย่อยที่อยู่ในช่วงเริ่มสร้างธุรกิจ ซึ่งการลงทุนทางด้านบรรจุภัณฑ์ให้เสมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนสูงจึงเป็นไปได้ยาก จึงมักใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีราคาถูกแต่ไม่เหมาะกับสินค้า ทำให้เกิดการเสียหายได้ง่าย หรือเกิดการตีกลับของสินค้า ส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค หรือการใช้บรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติที่ดีมากเกินไปจนส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงไม่สามารถแข่งขันได้ การได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์สูง จะช่วยแก้ปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ได้ ทำให้ผู้ประกอบการตั้งตัวได้เร็วขึ้น สามารถแข่งขันและผลักดันให้ธุรกิจอยู่ในตลาดปัจจุบันได้ สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ได้ อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ด้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่พื้นฐานของบรรจุภัณฑ์ บทบาทของบรรจุภัณฑ์ต่อธุรกิจสมัยใหม่ ประเภท สมบัติการใช้งาน ขั้นตอนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตลอดไปจนบรรจุภัณฑ์มาตรฐานสำหรับ SME ซึ่งประโยชน์ทางตรงที่ได้รับ คือ การวิเคราะห์ถึงบรรจุภัณฑ์ที่ตนเองใช้งานอยู่หรือต้องการจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อเป็นการปรับปรุง วางแผน และประยุกต์นำไปใช้ให้ถูกต้องกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง”
หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนา นางสาวณิชชา แก้วสุริยา ผู้บริหาร ณิชชาฟาร์ม จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เนื่องจากตนเองทำธุรกิจแปรรูปแตงโมเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกขนม และเครื่องสำอาง มีการส่งออกทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งตอนนี้มีความกังวลว่า ธุรกิจที่ทำอยู่กำลังประสบปัญหาในเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ที่ผ่านมาได้เลือกบรรจุภัณฑ์ด้วยตนเองโดยที่ยังไม่มีความรู้ จึงเกิดความกังวลมากพอสมควรว่า บรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้จะส่งผลต่อตัวผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นอาหาร ซึ่งอาจมีผลต่อสีและรสชาติได้ หรือผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องสำอางที่หากเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง อาจเกิดการทำปฏิกิริยาระหว่างสารจากส่วนผสมของเครื่องสำอางค์กับตัวบรรจุภัณฑ์ จึงอยากแก้ปัญหานี้ โดยหลังจากที่ได้รับคำปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้ ทำให้รู้จักชนิดของบรรจุภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เริ่มมีความเข้าใจ และสามารถเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทของตนเองได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ งานสัมมนา “บรรจุภัณฑ์สำหรับ SME: ไม่รู้ ไม่รอด” ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้าร่วมฟังบรรยายจากหลากหลายประเภทธุรกิจ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า กลุ่มที่ต้องการบรรจุภัณฑ์ กลุ่มที่มีปัญหาทางด้านการผลิตหรือการใช้งานบรรจุภัณฑ์ กลุ่มผู้ประกอบการทางด้านการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในด้านการใช้งานและด้านสิ่งแวดล้อม จำนวนมากกว่า 100 ราย นอกเหนือจากการบรรยายเพื่อให้ความรู้แล้ว ITAP สวทช. ยังมีบริการการให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และด้านอื่น ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่มาเข้าร่วมงานแบบเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์อีกด้วย