วช. ขับเคลื่อนประเด็นท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดจากไทยภายใน 10 ปี นำร่องจ.เพชรบูรณ์”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย แถลงการทำงานร่วมกันขับเคลื่อนโครงการวิจัยท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาสำคัญระดับชาติ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต นำร่องเพชรบูรณ์ที่พบผู้ป่วยมะเร็งตับสูงสุด สอดรับเป้าหมายWHO ที่มุ่งกำจัดโรคร้ายชนิดนี้ภายใน10ปี หรือ2573 พร้อมได้รับเกียรติจากนักวิจัยรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี62บรรยายพิเศษ หัวข้อ “HCV: from molecular virology to viral eradication”
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “วช. ซึ่งเป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยหลักของประเทศ และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกันบนพื้นฐานงานวิจัยเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยประเด็นท้าทาย เพื่อมุ่งเน้นกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2573 เป็นหนึ่งในประเทศที่จะขับเคลื่อนให้ได้ผล
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนับสนุน และมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการวิจัยเพื่อให้เกิดผล (Implementation Research) โดยมีโครงการนำร่องที่จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดต้นแบบ และจะนำมาขยายผลไปทั่วประเทศ เพื่อให้ไวรัสตับอักเสบหมดไปจากประเทศไทย ภายใน 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายองค์การอนามัยโลก”
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญด้านสุขภาพของประชากรโลกและไทย โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกมากกว่าการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) วัณโรค และมาลาเรีย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เรื้อรังทั่วโลกประมาณ 257 ล้านคนและเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ประมาณ 71 ล้าน
สำหรับประเทศไทย มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 7.5 แสนคน ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับตามมา
องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้ากำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปภายในปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าโดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ คือ
1) ลดการติดเชื้อรายใหม่ของไวรัสตับอักเสบ บี และซี ให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 90
2) ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี จะต้องได้รับการวินิจฉัยให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 90
3) ผู้ที่รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อแบบเรื้อรัง จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้ อย่างน้อยร้อยละ 80
4) ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับแข็ง และมะเร็งตับให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 65
วช. และภาคีเครือข่ายเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปได้ และบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้
นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย” ซึ่งโครงการฯนี้เป็นความมุ่งมั่นแบบสากลที่คนทั้งโลกจะได้ร่วมช่วยกันจัดการกับ “โรคตับอักเสบ” ให้ลดน้อยลงจนไม่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ และสาธารณสุขอีกต่อไป โดยการดำเนินงานขับเคลื่อนต้องอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการในการลดการติดเชื้อด้วยการค้นหาผู้ที่ติดเชื้ออยู่แล้ว และนำเข้าสู่การรักษาเพื่อลดการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตของประชาชนในอนาคต
กรมฯถือเป็นภารกิจที่ท้าทายรวมถึงต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของหน่วยงานทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันดำเนินโครงการฯให้บรรลุตามเป้าหมาย และในส่วนของกระทรวงสาธารณะสุขนั้นได้มีการพัฒนาแนวทางการตรวจวินิจฉัยผู้ที่เข้าข่ายที่จะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบไม่ว่าจะเป็น ไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซีให้ทั่วถึง พร้อมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการให้การดูแลรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนหายขาดจากโรคไวรัสตับอักเสบซี ส่วนไวรัสตับอักเสบบี ในอนาคตจะพยายามพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัด “โรคไวรัสตับอักเสบ” ให้หมดไปจากประเทศไทย
ด้านนพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพการรับประกันมีความพยายามให้ประชาชนได้มีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิระบบรับประกันรวมถึงคุณภาพมาตรฐานของการให้บริการที่ดี และเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาการติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบ ทำให้ผลพวงของการติดเชื้อสุดท้ายกลายเป็นโรคมะเร็งตับ ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง ถ้าหากมีการมองอย่างเป็นระบบและมีการเตรียมการ การเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ ทั้งนี้ โครงการวิจัยท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย” อาจจะเป็นต้นแบบ และจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การขยายผลในการลดจำนวนผู้ติเชื้อฯในอนาคต
ส่วนสิทธิประโยชน์อาจจะยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม นอกจากประชากรกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และงานวิจัยที่จะเป็นสิ่งนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายเผื่อผลักดันให้โครงการฯประสบผลสำเร็จ ส่วนของสำนักงานฯก็พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลต่างๆในเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่สิทธิประโยชน์ในการให้บริการกับประชาชนสืบต่อไป
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ความท้าทายที่จะกำจัดโรคใดโรคหนึ่งให้หมดไปจากประเทศไทยถือว่าเป็นข่าวดี ขณะที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับโรคใหม่ๆอย่างเช่น “โคโรน่าไวรัส” ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สร้างความตื่นตระหนกความกังวลให้กับประชาชน นอกจากนี้โรค NCD หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน สำหรับโรคบางโรคได้มีการศึกษา พัฒนา และวิจัยมาทั้งระบบ รวมทั้งการวิจัยวัคซีนต่างๆมาเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ จนถึงวันที่ประกาศว่าเราจะก้าวไปสู่การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้หมดไปเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องการกำจัดไวรัสตับอักเสบให้หมดไปภายในปี 2030 สังคม ชุมชนและการสื่อสารจะช่วยให้การดำเนินการที่ท้าทายนี้ประสบความสำเร็จ
ด้านนพ.ชินวัตร์ สุทธิวนา นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทยมีความยินดีที่จะสนับสนุนด้านวิชาการเพื่อการผลักดันโครงการฯให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และพยายามที่จะลดแรงต้านต่างๆเพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิและได้รับการรักษาทุกคน
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยท้าทายไทย “กำจัดไวรัสตับอักเสบจากประเทศไทย” เปิดเผยว่า มีประสบการณ์การดูแลเรื่องโรคตับมากว่า 40 ปี และมีโมเดลการทำวัคซีนกับประชาชนประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต เพราะมีการวางแผนนำร่องในการจัดการ โดยเริ่มที่จังหวัดชลบุรี และเชียงใหม่แล้วขยายมาเรื่อยๆทำให้ขณะนี้เด็กที่เกิดใหม่ไม่มีปัญหาการติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบ
สำหรับโครงการฯนี้เป็นโครงการฯที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากที่ผ่านมาได้ต่อสู้กับโรคไวรัสตับอักเสบมาโดยตลอด ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดชัดเจนตั้งแต่ปี 2016 ถึงการจะกำจัดโรคให้หมดไปภายในปี 2030 ประกอบกับบางประเทศได้เริ่มดำเนินการกันบ้างแล้ว
สำหรับประเทศไทยนั้นปัญหาไวรัสตับอักเสบบี และซี ศูนย์ฯมีโครงการศึกษานำร่องก่อนหน้านี้แล้วถึง 3 ปี โดยเฉพาะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ทำการศึกษามาโดยตลอด ส่วนสาเหตุที่เลือกจังหวัดนี้ก็เพราะมีผู้เป็นมะเร็งตับสูงที่สุดในประเทศไทย ขณะที่การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเท่าเทียมกับจังหวัดอื่นๆ แต่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสูงที่สุดของประเทศไทย จึงเป็นสาเหตุในการเลือกจังหวัดที่ยากที่สุดในการทำโครงการฯ โดยการเลือกหน่วยเล็กๆขึ้นมาก่อนเป็นรูปแบบจำลองขึ้นมาในการที่จะขจัดกวาดล้างโรคไวรัสตับอักเสบทั้งบี และซีให้หมดไปจากประเทศไทย และจะเอาตัวอย่างจากจังหวัดเพชรบูรณ์นี้เป็นโมเดลที่จะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆต่อไปให้ครบทั้ง 77 จังหวัด