นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลนักวิจัยดีเด่นจากผลงานผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวล-แยกจุลินทรีย์ช่วยฟื้นฟูดิน
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา รองศาสตราจารย์ นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2563 พร้อมมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2563
รองศาสตราจารย์ นพ.สรนิตกล่าวว่า วันนี้เป็นวันนักประดิษฐ์ไทย ตรงกับวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปี เราเชิดชูเกียรตินักประดิษฐ์คนไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีสมองมีความสามารถในการคิดค้น จะเห็นได้ว่าในงานนี้เต็มไปหมด และตรงกับนโยบายของกระทรวง ซึ่งวันนี้นักวิจัยดีเด่นมี 9 ท่าน ฝากสื่อฯช่วยเชิดชูเกียรติให้ท่านด้วย จะได้มีกำลังใจในการสร้างผลงานต่อไป
ด้านศาสตราจารย์ นพ.สิริกฤษ์ ทรงศิริวิไล ผอ.สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในงานนี้มีการจัดการแสดงปีนี้มุ่งเน้นนโยบายของกระทรวง โดยมุ่งเน้นเรื่องบีซีจี คือเศรษฐกิจด้านชีวภาพ ทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และทางด้านเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะเห็นว่า ผลงานการผลิตคิดค้นของนักวิจัยไทยมีมาตรฐานในระดับนานาชาติและระดับโลก และสามารถใช้งานได้จริง
สำหรับที่ผลงานที่โดดเด่นเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว คือ การใช้เทคโนโลยีที่สามารถทำให้ประสิทธิภาพของพลังงานสามารถที่จะลดปริมาณขยะ การจัดงานครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากที่จะให้เอกชนไปต่อยอด ภาคนักวิชาการที่จะเห็นว่าผลงานประดิษฐ์เหล่านี้จะมีประโยชน์อย่างไร และมีประโยชน์กับประชาชนทั่วไป
ขณะที่ ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยที่ได้รับรางวัล กล่าวว่า ตนได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา งานวิจัยที่ทำเป็นงานด้านงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยที่เทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพลังงานเป็นการพัฒนากระบวนการผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวลชนิดต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งศึกษาครอบคลุมตั้งแต่การปรับสภาพชีวมวลเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำตาลและจุลินทรีย์นำไปใช้ในการผลิตไฮโดรเจน โดยไฮโดรเจนนั้นจัดเป็นว่าเป็นตัวพาพลังงานซึ่งเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าได้ โดยผ่านเซลล์เชื้อเพลิงซึ่งเป็นงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำ
สำหรับงานวิจัยอีกเรื่องเป็นการกู้ฟื้นฟูที่ดินที่ปนเปื้อนด้วยสารฆ่าแมลง โดยมีการใช้แพร่หลายในภาคอีสาน มีฤทธิ์ฆ่าเพลี้ยกระโดดแต่มีพิษต่อคน และสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมและมีพิษต่อระบบประสาท ซึ่งเมื่อมีการใช้สารฆ่าแมลงก็จะมีการตกค้างในดินและในน้ำ ในนาข้าว โดยได้มีการคัดแยกเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความสามารถ และสลายสารฆ่าแมลง และก็ประสบความสำเร็จในการแยกเชื้อแบคทีเรียขึ้นมาชนิดหนึ่ง ก็มีฤทธิ์ย่อยสลายสารฆ่าแมลงที่ตกค้างได้
ทั้งนี้งานวิจัยได้ทำต่อเนื่องมาสิบกว่าปีแล้ว ผ่านการสอนและสร้างบุคคลากรทางด้านนี้ผ่านบัณฑิตศึกษาด้านปริญญาโท ปริญญาเอก ไป10 กว่าคน อย่างไรก็ตามอยากฝากนักวิจัยรุ่นใหม่คือควรรักในสิ่งที่ทำ ถ้ามีความรักในสิ่งที่ทำก็จะประสบความสำเร็จกันได้ทุกคน