วช.จับมือ ม.ขอนแก่น จัดมหกรรมรณรงค์ป้องกันกำจัดพยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดีพื้นที่ต้นแบบ “บ้านแฮดโมเดล”
โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ Fluke Free Thailand โดย สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงาน “มหกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น” ในวันที่ 7 มกราคม 2563 ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนรวมถึงสร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือทั้งส่วนราชการและเอกชนในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างบูรณาการและยั่งยืน กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี นายทวิช พิมพะ นายอำเภอบ้านแฮด กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน
นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาสาธารณสุขที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตในประชากรวัยทำงานจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการสูญเสียในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
ซึ่งภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบูรณาการทุกมิติอย่างยั่งยืน เราทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้จากต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งก็คือ การกำจัดพยาธิใบไม้ตับลดการแพร่กระจายตามแหล่งน้ำ กำจัดพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค จัดการอาหารให้ปลอดภัย เพิ่มภูมิคุ้มกันทางปัญญาแก่เยาวชน
จัดการข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบสามารถติดตามได้การคัดกรองและรักษาตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน โดยอำเภอบ้านแฮด เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของจังหวัดขอนแก่น ที่กำหนดให้มีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างบูรณาการผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งเรียกรูปแบบการดำเนินการนี้ว่า “บ้านแฮดโมเดล” ซึ่งเรามุ่งหวังว่าจะเกิดการสร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือทั้งส่วนราชการและเอกชน สร้างและกระตุ้นแรงขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างบูรณาการและยั่งยืน”
นายสุทธินันท์ บุญมี ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด (จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคราม ร้อยเอ็ด) มีทุกอำเภอที่เป็นอำเภอเป้าหมายโดยเขตสุขภาพฯร่วมกับสถาบันมะเร็งฯได้ดูข้อมูลพื้นฐานว่าปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเขตพื้นที่ไหนที่มีความรุนแรงก็จะมีการกำหนดและกระชับพื้นที่เป้าหมายและพื้นที่เป้าหมายต่อไปที่จะไปดำเนินการอาทิ อำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ,อำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม , อำเภอศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ดฯลฯ ดังนั้นเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนก็สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และยั่งยืน
ด้าน รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย มะเร็งท่อน้ำดี กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอด “โครงการท้าทายไทย” ที่รับเรื่องมาจากวช. ในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับว่า ต้องลดลงจนไม่เป็นปัญหาด้านสุขภาพรวมถึงเรื่องมะเร็งท่อน้ำดีก็ต้องลดลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีจะต้องตรวจพบในระยะแรกๆ และรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งจากการดำเนินโครงการมามีการตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีลดลงจาก 20% เหลือเพียง 5% เท่านั้น เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะความร่วมมือจากภาคประชาชนที่ได้ตระหนักรู้ถึงพิษภัยความรุนแรงจากโรคพยาธิใบไม้ตับและพร้อมที่จะทำให้ลดลงจนไม่เป็นปัญหาสุขภาพ
ทั้งนี้ หากอำเภอโมเดล “บ้านแฮดโมเดล” ประสบความสำเร็จก็จะสามารถนำไปเป็นตัวอย่างใช้กับอำเภออื่นๆ ในเขต 4 จังหวัดต่อไป และปี 2563นี้ จะมีการดำเนินกิจกรรมแบบนี้ในอีก 6 อำเภอ และถ้า 6 อำเภอนี้ประสบความสำเร็จก็จะเป็นโมเดลตัวอย่างและจะขยายต่อยอดออกไปจนครอบคลุมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในภาคเหนือ ทั้งนี้การได้รับทุนจากวช. นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขับเคลื่อน โครงการท้าทายไทย “ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ” ให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
นายทวิช พิมพะ นายอำเภอบ้านแฮดในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอบ้านแฮด กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรม “บ้านแฮดโมเดล” เป็นที่แรกถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะเรื่องสุขภาวะที่ดีของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และตรงตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการพิจารณาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงตัวแทนพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ ดังนั้นจะมีการดำเนินการในภาพรวมทั้งหมด ทั้งในเชิงป้องกันและการดูแลรักษา
สำหรับโครงการนี้ไม่ได้เริ่มต้นภายในวันนี้เป็นวันแรก แต่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้วโดยมีการจัดประชุมสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมและประชาชนที่เป็นแกนนำชุมชนระดับต่างๆมาโดยตลอด ซึ่งในอำเภอบ้านแฮดมีอาสาสมัครที่เป็นแกนนำมารับความรู้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจากทางสถาบันวิจัยมะเร็งฯ และพร้อมที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่ ซึ่งแผนงานต่างๆแกนนำจะเป็นผู้คิดและนำเสนอขึ้นมาร่วมกันดำเนินการในระดับอำเภอ
ในส่วนการกระตุ้นให้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องทางอำเภอได้ตั้งเป้าที่จะลดจำนวนผู้ป่วยลงให้เหลือเพียง 1% ภายใน 3 ปี ซึ่งสิ่งสำคัญในการลดจำนวนผู้ป่วยก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนระดับครัวเรือนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงของโรคที่เป็นภัยเงียบ แต่เมื่อมีการนำองค์ความรู้จากนักวิชาการภาคีเครือข่ายต่างๆนำส่งข้อมูลสู่ภาคประชาชนระดับต่างๆโดยเฉพาะระดับรากหญ้า ก็สามารถดึงแนวร่วมมาเข้าโครงการได้ง่ายขึ้น ประกอบกับการมีผู้นำชุมชนที่มีจิตอาสาซึ่งมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนกิจกรรม พร้อมทั้งการได้รับการสนับสนุนจาก วช. มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันวิจัยมะเร็งฯ เขตสุขภาพพื้นที่ 7 ภาคประชาชน ก็จะทำให้ส่วนราชการสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและเป้าหมายที่วางไว้ภายใน 3 ปีจะสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
ต่อมาประธานในพิธีพร้อมด้วยคณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในการรณรงค์ป้องกันกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ของโครงการวิจัยภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) อาทิ การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับด้วยแอนติเจนในปัสสาวะ, การจัดการระบบสุขาภิบาลและสิ่งปฏิกูล, การใช้หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อพัฒนาภูมิคุ้มกันในเยาวชน, อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ, ระบบ Isan cohort และการจัดแสดงผลการดำเนินงานรณรงค์สร้างความตระหนักถึงภัยของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีจากหน่วยงานในพื้นที่อำเภอบ้านแฮด
จากนั้นคณะผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการบริการตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับจากแอนติเจนในปัสสาวะ ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมวิจัยที่ได้จากโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ และเยี่ยมชมการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ ที่ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้จัดขึ้นเพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ โดยกิจกรรมการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่สงสัยว่าเป็นพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นั้นจะทำการบันทึกข้อมูลลงในฐานข้อมูลระบบ Isan Cohort ซึ่งเป็นระบบ Big Data ที่ทำหน้าที่ติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยจากต้นไปจนจบ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบกว่าสองล้านคนและสามารถติดตามผลข้อมูลได้แบบ Realtime
จากการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) เกิดผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำวิจัยและการนำผลไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อประเทศ ได้แก่ 1) ลดอัตราผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มเสี่ยงจากร้อยละ 42.8 เป็นร้อยละ 13.4 และขณะนี้ลดลงเหลือร้อยละ 7.7 เท่ากับลดลง 6 เท่า 2) เพิ่มการเข้าถึงการรักษา โดยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นสามารถเข้ารับการผ่าตัดเพิ่มจากร้อยละ 21.8 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 84.5 เท่ากับเพิ่มขึ้น 4 เท่า และ3) ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี โดยอัตราการรอดชีพใน 5 ปีของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเพิ่มจากร้อยละ 17.3 เพิ่มเป็นร้อยละ 48.3
โครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาสำคัญให้กับประเทศอย่างแท้จริง และทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่เกี่ยวข้องกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ อย่างทันเวลา เท่าเทียม มีคุณภาพ และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการขจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้น จะกระทำให้สำเร็จโดยภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลและต่อเนื่อง
การจะดำเนินการแต่เพียงในโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางสุขภาพด้วยการตั้งรับเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพนี้ร่วมกัน สอดรับกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ยึดถือการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการอุทิศเพื่อสังคม สร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะภาคอีสานให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีลงให้เหลือน้อยที่สุด
ในการนี้ น.ส.ธรรมภรณ์ ประภาสะวัต หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณผู้แทน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะ ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย