นักวิจัย ม.มหิดล เจ๋งคว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ63 คิดค้นยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์รักษาไข้เลือดออก
ศาสตราจารย์ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดีและหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อมคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดลเข้ารับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2563เมื่อเร็วๆนี้ ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่งาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนากรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี 2531 ปริญญาโท 2 ใบ ใบแรกคือ สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (MPH) จากคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี 2535 และใบที่สองวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (MSc) จาก Swedish University of Agricultural Sciences ประเทศสวีเดนเมื่อปี 2542 และปริญญาเอกทางด้านจุลชีววิทยาจากสถาบันเดียวกันเมื่อปี 2543
ศาสตราจารย์ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์รามเปิดเผยถึงผลงานวิจัยที่ภาคภูมิใจคือ “ยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออก” ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2552 โดยร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยโอซาก้าประเทศญี่ปุ่นด้วยทุนวิจัยสนับสนุนจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมกว่า 70 ล้านบาทโดยได้มีการสร้างห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยแอนติบอดีขึ้นที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการวิจัยโดยนำเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยไข้เลือดออกของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนมารวมกับเซลล์ Myeloma ชนิดใหม่แล้วนำมาคัดเลือกหาแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ จากนั้นนำมาทดลองในเชื้อไวรัสที่ก่อโรคจริงในคนพบว่า สามารถยับยั้งได้ทั้งหมด เมื่อนำมาทดสอบในหนูและลิงที่ถูกฉีดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก 10 ล้านตัวพบว่าแอนติบอดีสามารถกำจัดไวรัสจนหมดภายใน 2 วัน
จนเมื่อปี 2561 ได้มีบริษัท BSV Bioscience ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการรวบรวมแอนติบอดีจากนักวิจัยทั่วโลกมาทดสอบในหนูดัดแปลงพันธุกรรมที่ถูกฉีดไวรัสทิ้งไว้ 1 วันพบว่าแอนติบอดีจากนักวิจัยไทยให้ผลดีที่สุดโดยสามารถรักษาหนูให้รอดชีวิตได้ 100% ประธานบริษัทจึงมาทำสัญญาลงทุนสู่เชิงพาณิชย์กับมหาวิทยาลัยมหิดลโดยได้ทำการผลิตระดับอุตสาหกรรม GMP และวางแผนที่จะทดลองกับคนปกติในปี 2564 และกับผู้ป่วยไข้เลือดออกในปีถัดไปก่อนจะขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) และออกสู่ตลาดในปี 2569
ศาสตราจารย์ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม กล่าวว่าสัญญาที่ลงนามร่วมกับบริษัท BSV Bioscience นั้นเป็นแบบให้สิทธิ (non exclusive) ในประเทศไทยซึ่งเจ้าของผลงานสามารถนำมาต่อยอดผลิตและลงทุนทางการตลาดเองในประเทศไทยได้ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะสามารถใช้ยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออกที่คิดขึ้นนี้ในราคาที่เข้าถึงได้
นอกจากนี้ 10 ปีที่ผ่านมาโครงการฯได้มีส่วนสร้างโอกาสทางการศึกษาและวิจัยให้กับนักศึกษาปริญญาโท-เอกของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ต่อยอดผลงานทำวิทยานิพนธ์จนสำเร็จการศึกษาถึงเกือบ 20 ราย
จากผลงานวิจัยดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ส่งผลให้ศาสตราจารย์ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์รามรามสูตและคณะได้รับรางวัลผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์จากวช. ถึง 3 ครั้งคือปี 2553 ปี 2557 และ 2559 จนมาได้รับรางวัลใหญ่ล่าสุด “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ปี 2563 นอกจากนี้ผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์รามรามสูตยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศมาแล้วกว่า 70 เรื่องรวมทั้งจดสิทธิบัตร 2 ฉบับคุ้มครองใน 11 ประเทศ
ศาสตราจารย์ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์รามรามสูต กล่าวทิ้งท้ายว่าตนทำงานวิจัยโดยใช้หลัก 3 ประการคือ
“Be” “Do” “Have”
Be เชื่อในภาพฝันที่ยิ่งใหญ่และเป็นภาพเป้าหมายที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก
Do ลงมือทำตามภาพฝันทุกวันด้วยความมุ่งมั่นจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
Have ในที่สุดเป้าหมายสามารถกลายเป็นจริงได้ดั่งภาพฝัน