วช. สานพลังนักวิจัยไทยสู้ ภัยแล้ง 2020 หนุนงานวิจัยเร่งแก้ปัญหา-เพิ่มมาตรการบริหารจัดการน้ำระดับชาติยั่งยืน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ “ภาวะแล้ง 2020 และ แนวทาง มาตรการ บริหารจัดการเพื่อป้องกันในอนาคต” ณ ห้องประชุมแมนดาริน ซี โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ รวมพลนักวิจัยด้านน้ำระดับประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ มากกว่า 200 คน วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือบริหารจัดการน้ำของประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานวิจัย ส่งต่อข้อมูลการวิจัยสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมฝ่ายบริหารของประเทศ และผลักดันการวิจัยสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานสัมมนากล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญของงานวิจัยกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน ท่านปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เข้าร่วมให้เกียรติรับฟังปัญหา เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอและแนวทางแก้ไขต่อภาวะแล้งที่เกิดขึ้น ดำเนินการและส่งผ่านคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเสนอวุฒิสภาต่อไป
ทั้งนี้มีการเสนอแนะนโยบายการบริหารจัดการและการปฏิบัติและแนวทางแก้ไขต่อภาวะแล้งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น การทบทวนมาตรการที่มีอยู่ที่ยังพบช่องว่างที่ควรปรับปรุงในหลายประเด็น
รวมถึงการพิจารณาและข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาเป็นระยะยาว ทั้งในด้านการปรับโครงสร้างการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ให้สมดุล เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำ และเพิ่มผลิตผลการใช้น้ำไปด้วยกัน โดยใช้มาตรการด้านผู้ใช้ ไปพร้อมกับการจัดหาน้ำเพิ่มเติม และการบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างเป็นระบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนพื้นที่ เช่น การวางแผนกำหนดโควตาการใช้น้ำ ตามพื้นที่และปีน้ำ
พร้อมตารางการลดน้ำตามภาวะน้ำในแต่ละรูปแบบ โดยเป็นการตกลงของชุมชน พร้อมกับการปรับโครงสร้างและแผนการใช้น้ำในอนาคต ๑๐ ปี แต่ละลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำย่อย และพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจ และมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีตัวแทนทั้งจากหน่วยงานหลัก จังหวัด อบจ. และตัวแทนชุมชนที่มีความสำเร็จในการจัดการแก้ไข ป้องกันปัญหาภัยแล้งได้ดี เป็นตัวอย่างของการขยายผลสู่พื้นที่อื่นได้อีกต่อไป
รศ.ดร.สุจริต คุณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยภาพรวมการจัดงานในครั้งนี้ว่า การจัดงานวันนี้มี 4 ส่วน ส่วนแรกคือ การพยายามหาสาเหตุว่าทำไมปี 2563 นี้ถึงแล้ง ซึ่งเราพบ2เรื่อง คือ1. ฝนตกน้อยและการแปรปรวนทางเชิงฤดูทำให้หน้าฝนเราใช้น้ำมากกว่าปกติ ทำให้น้ำเหลือน้อย ส่วนที่2. แล้วจะแล้งจัดอย่างไร ซึ่งพบว่าฝนมีแนวโน้มมาล่าช้า จึงกำหนดพื้นที่ว่า พื้นที่ที่ปลูกไปแล้ว 3.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะภาคกลางแนวโน้มจะมีความเสี่ยงภัยประมาณ 1 ล้านไร่ จึงต้องมีมาตรการเสริม ส่วนที่3 จะมีการเสนอมาตรการระยะสั้น ทั้งในแง่ของภาคอุตสาหกรรม ในแง่ของเกษตรกรรมและผู้อุปโภคบริโภค สุดท้ายจะนำข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้มาหารือกันในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น สนช. อบต. อบจ.และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่อาจมีความเห็นเพิ่มเติม ก่อนได้ข้อสรุปเพื่อเสนอไปที่หน่วยงานปฏิบัติและทางวุฒิสภาต่อไป
ทั้งนี้มาตรการระยะสั้นในการแก้ภัยแล้งนั้น เกษตรกรก็จะต้องใช้น้ำอย่างประหยัดตามที่ได้รับจัดสรรมา การใช้แหล่งน้ำสำรอง การทำเกษตรทางเลือก และการสามารถที่ทำอาชีพอื่น ซึ่งรัฐบาลอาจต้องเตรียมการในเรื่องอาชีพสำรองสำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้
ส่วนมาตรการระยะยาว มี 2 ขั้นตอน หลังจากมีพ.ร.บ.น้ำแล้ว จะต้องกำหนดกฎกติกาในการเพาะปลูกและการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมตามปีน้ำต่าง ๆ ในระยะยาวแล้วแล้ว โดยเฉพาะข้าว ควรจะควบคุมเฉพาะเกษตรนาปรัง ให้ทำเกษตรด้านอื่นเสริม ทำอาชีพอื่นเสริมนอกจากทำนาปรังอย่างเดียว เพื่อให้มีทางออกมากขึ้น ลดการใช้น้ำ ใช้น้ำในภาคเกษตรอย่างมีคุณค่า ทำอาชีพอื่น เช่นบริการ ด้านท่องเที่ยวชดเชย
ทางด้านแผนการปรับโครงสร้างในระยะ 10 ปีนั้นแบ่ง 3 เรื่อง 1) ทำให้ทุกพื้นที่ควรจะมีน้ำกินน้ำใช้ได้ ทำให้มีความมั่นคงทางน้ำ 2) ทำให้มีการใช้น้ำอย่างมีมูลค่าเพิ่ม ควรส่งเสริมเกษตรด้านอื่น เช่น เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นและประหยัดน้ำในเวลาเดียวกัน 3) ขณะเดียวกันเรายังจะส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเกษตรแปรรูป เนื่องจากเรามีรถไฟ ซึ่งจะเกิดนิคมเกษตรและการอุตสาหกรรมเกษตรที่ดีขึ้น เกษตรทันสมัย จะช่วยเกิดความสมดุลย์ ยังมีอาชีพและรายได้ โดยใช้น้ำลดลงในภาคเกษตรประมาณ 10% การเปลี่ยนโครงสร้างใน 10 ปีนี้กำลังวางแผนอยู่