รัฐ-เอกชน-สถาบันการเงิน หารือเข้ม เล็งส่งเสริม “ไม้ยูคาลิปตัส” ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นัดหน่วยงานพันธมิตรร่วมหารือแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันให้ไม้ ยูคาลิปตัส นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจให้เห็นเป็นรูปธรรม หวังช่วยเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศไทย แต่มีข้อแม้ที่ดินที่ปลูกต้องเป็นกรรมสิทธิ์ และไม่ติดจำนอง ชูสถาบันการเงินเป็นหน่วยงานนำหน้าพาไปสู่ความสำเร็จ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อนำเสนอโครงการส่งเสริมไม้ยูคาลิปตัสเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจไม้ ตัวแทนเกษตรกร และสถาบันการเงินเข้าร่วม ประกอบด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด สมาคมการค้าชีวมวลไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย พร้อมสมาชิกของสมาคม ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ยูโอบี ธนชาติ เกียรตินาคิน และธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า ผลการประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากทางสถาบันการเงินยังมีความกังวลใจใน 2 ประเด็นเกี่ยวกับการประเมินราคาต้นไม้ และการตรวจสอบต้นไม้ว่าจะยังคงสภาพอยู่ตลอดระยะเวลาการให้สินเชื่อหรือไม่ แต่คาดว่าไม่น่ามีปัญหาในภาพรวม และจะหารือกันเชิงลึกเพื่อขจัดข้อกังวลใจให้หมดไปในเร็วๆ นี้
“ความคืบหน้าจากการประชุมในครั้งนี้ ทาง บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือของ SCG ได้คัดเลือกเกษตรกรที่เป็นสมาชิกและมีคุณสมบัติตามโครงการมาร่วมนำเสนอแนวคิดให้สถาบันการเงินพิจารณาถึงเงื่อนไขและความเป็นไปได้ในการอนุมัติปล่อยสินเชื่อ ซึ่งระยะเวลาการปลูกจนสามารถตัดขายได้ของต้นยูคาลิปตัส อยู่ที่ 5 ปี แต่เกษตรกรอยากทราบว่าระหว่างปีที่ 3-5 ต้นไม้เริ่มเติบโตเห็นผลแน่นอนแล้ว หากระหว่างนี้ เกษตรกรสนใจที่จะลงทุนปลูกเพิ่มในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้มีอายุการตัดไล่เลี่ยกันและมีรายได้เข้ามาทุกปีจึงประสงค์นำต้นไม้รอตัดเหล่านั้นไปเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้หรือไม่ ซึ่งทางสถาบันการเงินยังมีข้อติดขัด 2 ประการ คือ 1) วิธีการประเมินราคาของไม้ยูคาลิปตัส 2) การติดตามตรวจสอบต้นไม้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจกับธนาคารนั้นจะยังคงสภาพอยู่ตลอดระยะเวลาการให้สินเชื่อหรือไม่ พร้อมเสนอเป็นข้อพิจารณาให้กับทางบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ว่า ถ้าทางบริษัทฯ หรือ SCG เข้ามาช่วยสนับสนุนใน 2 เรื่องที่กังวลอยู่ได้หรือไม่ ขณะเดียวกันได้ขอให้ทางบริษัท สยามฟอเรสทรี ปรับโครงการให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสมาคมธนาคารไทยจะเชิญธนาคารสมาชิกที่มีโครงการให้สินเชื่อกับเกษตรกรมาหารือในโอกาสต่อไปซึ่งจากนี้ไปได้มอบให้บริษัท สยามฟอเรสทรี ดำเนินการปรับปรุงโครงการให้มีความชัดเจน และมีความเป็นไปได้มากที่สุด ตามที่สมาคมธนาคารไทยได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ และจะเชิญหน่วยงานพันธมิตรกลับมาหารือเชิงลึกอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ”
ส่วนสมาคมการค้าชีวมวลไทย ได้นำเสนอต้นไม้อีกชนิดหนึ่งเพื่อเป็นทางเลือก คือ กระถินยักษ์ซึ่งมีรอบตัดฟันสั้น แค่ 1.8 ปี ก็สามารถตัดขายได้ กำไรดี โดยทางสมาคมยินดีรับผลผลิตเข้าสู่โรงงานพลังงานไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้ง เมล็ด ใบ และลำต้น อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยจะเสนอให้พิจารณากระถินยักษ์เป็นไม้ชนิดต่อไปในการนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ รองอธิบดีกล่าวในท้ายที่สุด