แม่ทัพภาคที่ 1 ร่วมตรวจเยี่ยมนวัตกรรม “เรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อน” เจ้าแรกของโลก วช.สนับสนุนวิทยาลัยต่อเรืออยุธยาพัฒนา


พลโท ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1นำคณะตรวจเยี่ยมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นางปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและคณะผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ ภาตะนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประสิทธิภาพการทำงานของ “เรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อน” ที่ถือเป็นนวัตกรรมเจ้าแรกของโลก และ “เรือลอกตะกอนแบบตีกวนและดูดกลับ” ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายสุบิน แพทย์รัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย ให้การต้อนรับ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เรือลอกตะกอนแบบตีกวนและดูดกลับและเรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อนใช้หน้าประตูระบายน้ำและคลองสาธารณะ เป็นนวัตกรรมที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา ในการคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างต้นแบบ และออกแบบให้มีความกะทัดรัด สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับหน้าประตูระบายน้ำ และคลองสาขา

อีกทั้งสามารถขนย้ายได้ง่ายขึ้น และเพื่อเกิดความสะดวกในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและกรุงเทพมหานคร ที่ประสบปัญหาจากผักตบชวาที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำไหล ทางสัญจรของเรือขนส่ง และต้องการให้เป็นคลองที่มีน้ำไหลใสสะอาด



งานวิจัยดังกล่าว เป็นการนำผลงานประดิษฐ์ และนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนลำน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาคลองสาขาต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสะอาด ปราศจากผักตบชวาและวัชพืชทางน้ำ ป้องกันการกีดขวางการไหลของน้ำให้คลองสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ สามารถไหลออกสู่แม่น้ำได้อย่างสะดวก ไร้อุปสรรค โดยเฉพาะคลองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ไหลลงสู่กรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน
นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ผลพลอยได้หลายอย่าง เช่น นำผักตบชวาใช้ทำปุ๋ย เชื้อเพลิง เยื่อสานจากผักตบชวา และการปลูกพืชน้ำอื่น ๆ เช่น ผักบุ้ง รวมทั้งการเลี้ยงปลาด้วย และยังเป็นแหล่งค้นคว้าทดลองในการนำเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนมาสร้างเป็นเครื่องมือที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความสะอาด ที่สำคัญเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาได้มีองค์ความรู้ที่เรียนมา ในการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ขณะเดียวกันยังสามารถพัฒนาได้ในราคาที่ถูก เช่น เรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อนใช้งบประมาณเพียง 1 ล้านบาท ในขณะที่ราคาในต่างประเทศประมาณ 10 ล้านบาท

