“กรมบัญชีกลาง” สรุปผลศึกษา ความตกลง CPTPP ด้านจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เตรียมเสนอแนะมาตรการส่งเสริมการค้า หนุนเอกชนไทยสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก
นางภัทรพร วรทรัพย์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของเตรียมการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง ที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ที่จะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เนื่องจาก CPTPP เป็นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า ซึ่งจะรองรับรูปแบบการค้าการลงทุนในโลกยุคใหม่ กับ 11 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายการแข่งขัน ความโปร่งใสและการต่อต้านการทุจริต แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“กรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ศึกษาในการประเมินผลกระทบ ปัญหา และอุปสรรค ความตกลง CPTPP ในข้อบทเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ โดยการนำเสนอผลการศึกษาในวันนี้จะสรุปรายงานการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และร่างรายงานการวิเคราะห์ เปรียบเทียบความสอดคล้องของความตกลง CPTPP เพื่อนำไปเสนอแนวทางในการจัดทำรายการสินค้า บริการ งานก่อสร้าง ที่ควรมีการเปิดตลาด ข้อยกเว้นหรือข้อสงวนต่างๆ และมูลค่าขั้นต่ำในการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเสนอแนะแนวทางการจัดทำมาตรการส่งเสริมการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP เพื่อนำเข้าสู่ ครม.ต่อไป” นางภัทรพร กล่าว
โดยภายในงานคณะที่ปรึกษาๆ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศสมาชิก CPTPP การวิเคราะห์เปรียบเทียบความสอดคล้องของความตกลง CPTPP ภายใต้หัวข้อการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ กับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎกระทวง และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่สะท้อนมาจากการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของภาคราชการ และภาคเอกชนที่มีต่อความตกลง CPTPP และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในเรื่องแนวทางการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับความตกลง CPTPP โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ อาทิ หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติของนิติบุคคลต่างชาติ การอุดหนุนผู้ประกอบการไทย การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน การกำหนดข้อยกเว้น และแนวทางการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น ตลอดจนผลกระทบของการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP รวมทั้งมีการตอบข้อซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วย