วช.ดันงานวิจัยแผ่นดามกระดูกใช้จริงในผู้ป่วย หวังขยายผลสู่เชิงพาณิชย์


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมผลงานวิจัย”แผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้ ตามนโยบายการใช้นวัตกรรมจากผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง” วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 โดยนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี



วช. ได้สนับสนุนโครงการต่อยอดบัญชีสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การทดสอบมาตรฐานแผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้” แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อศึกษาวิจัยการออกแบบผลิตแผ่นดามกระดูกและสกรูยึดกระดูกจากวัสดุโลหะผสมไทเทเนียม ที่มีความหนาน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ปกติ และสกรูที่สามารถยึดติดได้นานและหลวมยากกว่าที่ใช้ในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมในการออกแบบ เลือกวัสดุ และการนำเทคโนโลยีการปรับสภาพผิวที่จะช่วยเสริมความแข็งแรงของวัสดุ และสร้างต้นแบบวัสดุแผ่นดามกระดูก สกรูยึดตรึงกระดูก ให้พร้อมใช้งานสำหรับการผลิตทางอุตสาหกรรม โดยไม่ได้เป็นเพียงต้นแบบเท่านั้น แต่ต้องผ่านมาตรฐานการใช้งานได้ เช่น การทดลองในสัตว์และการทำทดสอบทางคลินิก

นอกจากนี้ยังทำการทดสอบตามมาตรฐานวัสดุการแพทย์ เพื่อพร้อมเข้าสู่กระบวนการผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวได้นำไปทดลองใช้กับผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี และมีผลเป็นที่น่าพอใจ โดยจะทำการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ทางการแพทย์ปัจจุบัน พบว่า โรคกระดูกถือเป็นปัญหาอันดับ 2 ของโลก การรักษาโรคกระดูกหักจะมีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แผ่นดามกระดูก สกรูยึดกระดูก เพื่อยึดตรึงกระดูกและจำกัดการเคลื่อนไหวของกระดูกที่เกิดการแตกหัก การใช้งานแผ่นดามกระดูกยังพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่เกิดการแตกหักภายในร่างกายมนุษย์ เนื่องจากความแข็งแรงไม่เพียงพอ เกิดความยากในการเย็บปิดแผลและเกิดความรำคาญให้กับผู้ป่วย

งานวิจัยได้แผ่นดามกระดูกและสกรูทางออร์โธปิดิกส์ เป็นวัสดุฝังในเพื่อฟื้นฟูกระดูกที่มีความยืดหยุ่นยิ่งยวดทำให้เกิดความเสียหายแก่กระดูกน้อยลง และออกแบบแผ่นดามกระดูกที่สามารถลดความหนาลงได้ ปรับผิวโลหะแบบพ่นยิงด้วยอนุภาคละเอียดโดยทดสอบกับใช้ในการแพทย์กับโลหะผสมไทเทเนียมที่เป็นวัสดุและเงื่อนไขที่ดีที่สุด ผ่านการทดสอบมาตรฐานสากล และทางชีวภาพตามมาตรฐานสากลแล้ว
โดยศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ และนำเอาข้อมูลทั้งหมดเข้ากรรมการจริยธรรม โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ดำเนินการทำการทดสอบคลินิก ที่ออกแบบและผลิตแผ่นดามกระดูกท่อนแขนแบบมาตรฐาน และสกรูสำหรับยึด และทดสอบในผู้ป่วยภายใต้ผู้ผลิตมาตรฐาน ISO13485 ตลอดจนผ่าน อย. ที่จะขยายผลสู่การใช้เชิงพาณิชย์ได้ต่อไป