นวัตกรรม “BOKBOK ขนมทานเล่นจากเมล็ดกระบก” แชมป์ “Food Innopolis Innovation Contest 2020”
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) โดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ร่วมกับ Food Factors บริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ KCG Corporation จัดงาน “การแข่งขันประกวดนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2020” ระหว่างวันที่ 22 – 23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ลาน Helix Garden ชั้น 5 ห้างเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ ในหัวข้อ Local Ingredient (วัตถุดิบพื้นถิ่น) และ Future Protein (โปรตีนแห่งอนาคต) เพื่อสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร รวมทั้งอาจารย์ นักวิจัย และบุคคลทั่วไปที่สนใจจากทั่วประเทศ ที่มีแนวคิดหรือผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารต้นแบบ ได้ประยุกต์ใช้ความรู้และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนความรู้ทางธุรกิจ ในการสร้างนวัตกรรมด้านอาหาร
การแข่งขันมีทีมผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 31 ทีม แบ่งเป็นรุ่น Light Weight นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี 16 ทีม และรุ่น Heavy Weight นิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และบุคคลทั่วไป จำนวน 15 ทีม ผลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศประเภทรุ่น Light Weight ในหัวข้อวัตถุดิบพื้นถิ่น ได้แก่ Hi-Hi (ฮิฮิ) ม.รังสิต หัวข้อโปรตีนแห่งอนาคต ได้แก่ TUwingle ม.ธรรมศาสตร์ ส่วนประเภท Heavy Weight ในหัวข้อวัตถุดิบพื้นถิ่น ได้แก่ Musava จาก ม.สงขลานครินทร์ หัวข้อโปรตีนแห่งอนาคต ได้แก่ Amimor น้ำอัดลมเพื่อสุขภาพ บริษัท วรห จำกัด และสุดยอดรางวัล Grand Prize ตัวแทนนักศึกษาไทยไปดูงานต่างประเทศ ได้แก่ TUwingle ม.ธรรมศาสตร์จากผลงาน “Prowingle Cheese (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบชีสจากเมล็ดถั่วพู)”
โดยวันแรกของการเปิดงานได้รับเกียรติจาก ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) พร้อมด้วย ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ร่วมด้วยผู้บริหารหน่วยงานสนับสนุนหลักการจัดงาน Food Factors ได้แก่ คุณพร ดารีพัฒน์ Executive Vice President Food Factors และคุณตุลย์ มหาวัจน์ Marketing Activation Manager บุญรอดบริวเวอรี่ และ KCG ได้แก่ คุณตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KCG และ ดร.วาทิต ตมะวิโมกษ์ กรรมการผู้อำนวยการ KCG ร่วมในพิธีเปิดงาน และร่วมชมงาน
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เปิดเผยว่า เมืองนวัตกรรมอาหารหรือ Food Innopolis เป็นโครงการของรัฐบาลภายใต้การบริหารจัดการโดย สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งหวังที่จะสร้าง พัฒนา และยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนวัตกรรมอาหารทุกระดับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และนำพาประเทศไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จึงจัดให้มีโครงการประกวดแนวคิดนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest ขึ้น ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้การดำเนินงานโดย FI (Food Innopolis) Accelerator แพลทฟอร์มเร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการอาหาร ร่วมกับพันธมิตรหลัก Food Factors บริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอร์รี่ และได้รับการสนับสนุนจาก KCG Corporation รวมทั้งมหาวิทยาลัยเครือข่ายของ Food Innopolis ทั่วประเทศ
“Food Innopolis Innovation Contest เปิดรับผลงาน 2 รุ่นคือ ในระดับนักศึกษาปริญญาตรี (Light Weight) และระดับบัณฑิตศึกษา นักวิจัยและบุคคลทั่วไป (Heavy Weight) ใน 2 หัวข้อคือ Local Ingredient Innovation (วัตถุดิบพื้นถิ่น) และ Future Protein Innovation (โปรตีนแห่งอนาคต) ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงจัดประกวดผลงานเท่านั้น แต่เป็นการอบรมและให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้นในเรื่องแนวคิดนวัตกรรมธุรกิจ และการนำเสนอ โดยมุ่งหวังจะกระตุ้นให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ และนำผลงานออกสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง โดยผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 2 รุ่นในวันนี้ ผ่านการคัดสรรจากผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจากทั่วประเทศกว่า 200 ทีม จนเหลือ 31 ทีม ซึ่งมีแนวคิดที่น่าสนใจ อาทิ นมจากไข่ขาว 100 % เนื้อจากพืชที่ให้กลิ่นรสและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงเนื้อสัตว์จริง ๆ เส้นจากดอกงิ้วและตาลโตนด เป็นต้น” ดร.อัครวิทย์ กล่าว
ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศประเภทรุ่น Light Weight หัวข้อวัตถุดิบพื้นถิ่น ได้แก่ Hi-Hi (ฮิฮิ) มหาวิทยาลัยรังสิต กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร “BOKBOK ขนมทานเล่นจากเมล็ดกระบก” ขนมทานเล่นจากเมล็ดกระบกหรืออัลมอนด์อีสาน ซึ่งได้นำวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูป เป็นขนมทานเล่นอร่อย ทานง่ายและมีประโยชน์
ขณะที่หัวข้อโปรตีนแห่งอนาคต ได้แก่ TUwingle มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร “Prowingle Cheese (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบชีสจากเมล็ดถั่วพู)” ผลิตภัณฑ์ชีสดิปจากเมล็ดถั่วพู อุดมไปด้วยโปรตีน Dairy free (ปราศจากนม) และคอเลสเตอรอล 0%
ส่วนประเภทรุ่น Heavy Weight หัวข้อวัตถุดิบพื้นถิ่น ได้แก่ MasaWa Team มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร “MusaWa Bar” อาหารขบเคี้ยวชนิดแท่งที่ผลิตจากแป้งกล้วยน้ำว้าดิบ 100% ผลิตภัณฑ์มีสรรพคุณในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ขณะที่หัวข้อโปรตีนแห่งอนาคต ได้แก่ Amimor น้ำอัดลมเพื่อสุขภาพ บริษัท วรห จำกัด กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร “AMIMOR น้ำอัดลมเพื่อสุขภาพ” เครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ความซ่าสดชื่นมาพร้อมคุณประโยชน์ของโปรตีนและวิตามินบีรวม ปราศจากน้ำตาลและสีเติมแต่ง
และสุดยอดรางวัล Grand Prize ตัวแทนนักศึกษาไทยไปดูงานต่างประเทศ ได้แก่ TUwingle ม.ธรรมศาสตร์ กับผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร “Prowingle Cheese (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบชีสจากเมล็ดถั่วพู)”