รมว.พม. ชื่นชมสตรีไทย เก่ง ฉลาด สนับสนุนเป็นผู้นำทางการเมืองมากขึ้น
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ผลกระทบของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่อผู้นำสตรี” ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสถานภาพการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของสตรี รุ่นที่ 2 ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมี สตรี และผู้นำหรือแกนนำสตรีในหมู่บ้านหรือชุมชน ที่มีความสนใจทางการเมือง หรือต้องการที่จะทำงานการเมือง จาก 25 จังหวัดภาคกลาง และกรุงเทพฯ รวมจำนวน 80 คน เข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุมปรินซ์บอลรูม 3 ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
นายจุติ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาคนให้มีความพร้อมไปสู่ศตวรรษใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมถึงผู้นำสตรียุคใหม่ที่รู้ทันต่อข้อมูลข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งในยุคปัจจุบัน ความท้าทายของสตรี คือการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์หรือจะกลายเป็นทาสของเทคโนโลยี อีกทั้งการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการหารายได้เข้าสู่ครอบครัว สำหรับผู้นำสตรีหากเปรียบเทียบกับนักรบ ทุกคนคือนักรบแถวหน้าของประเทศ ซึ่งตนเชื่อว่าในมิติของเศรษฐกิจและสังคม สตรีสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากกว่านี้ ตัวอย่าง เช่น ในประเทศไทย ภาคธุรกิจมีสตรีเข้าสู่ตำแหน่งบริหารสำคัญขององค์กร ร้อยละ 44 ส่วนในภาคการเมือง มีมีสตรีที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพียงร้อยละ 10 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพียงร้อยละ 15 แต่ในประเทศที่มีความคิดก้าวหน้าและให้ความสำคัญกับโอกาสและความเสมอภาคทางเพศสูง เช่น ประเทศสวีเดน มีสตรีในสภาถึง ร้อยละ 44 นับว่าสตรียังมีบทบาททางการเมืองน้อยกว่าบุรุษ ดังนั้น ผู้นำสตรีทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะสตรีทุกคนควรได้รับความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรม
นายจุติ กล่าวต่ออีกว่า ตนเชื่อว่าสตรีทุกคนสามารถเป็นผู้นำของสังคม และสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้ ซึ่งการเป็นผู้นำที่ดีควรมีความฉลาดใน 7 มิติ ได้แก่ 1) ฉลาดทางความคิด 2) ฉลาดทางอารมณ์ 3) ฉลาดคิดอย่างสร้างสรรค์ 4) ฉลาดในการทำงานร่วมกัน 5) ฉลาดในการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง 6) ยึดมั่นในคุณธรรมศีลธรรม และ 7) ฉลาดในการจะเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีปัจจัยความสำเร็จในการเป็นผู้นำ 8 ประการ ได้แก่1) มีสมาธิจดจ่อในการอ่าน จึงจะสามารถรวบรวมความคิด ตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล 2) รักในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่รัก 3)ใส่ใจรายละเอียดและในขณะเดียวกันต้องมองภาพใหญ่ ต้องรู้เป้าหมายคืออะไร 4) มีความอดทนเพื่อนนำไปถึงเป้าหมาย 5) มีความเพียร 6) รู้จักตั้งคำถามเพื่อให้เข้าใจในการทำ 7) มีการวางแผนในการทำงาน และ 8) มีการแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดและไม่สร้างปัญหาใหม่ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้เป็นแบบอย่างของผู้นำสตรีที่มีภาพลักษณ์ดี พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 อันจะนำไปสู่การพัฒนาครอบครัว ชุมชน องค์กร และสังคมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสถานภาพการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของสตรี รุ่นที่ 2 จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้สตรีทุกคนได้มีทักษะและกระบวนการความคิดพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกพร้อมทั้งมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้นำสตรีทุกคนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เข้าไปเป็นผู้แทนให้กับสตรีทุกคน โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่จะให้ความรู้และคำปรึกษาแนะนำในเรื่องต่างๆ อาทิ บทบาทและความสำคัญของสตรีในชุมชน การบริหารจัดการเศรษฐกิจครัวเรือน และการมีส่วนร่วมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การร่วมวิเคราะห์ว่าทำไมจึงมีสตรีจำนวนน้อยในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลักการปกครองตนเอง การกระจายอำนาจและบทบาทหน้าที่ขององค์กรของท้องถิ่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เทคนิควิธีการหาเสียงที่มีประสิทธิภาพ บุคลิกภาพและการพูดในที่สาธารณะ การจัดทีมวางแผนปฏิบัติการหาเสียงเลือกตั้ง และการวางแผนเลือกตั้ง เป็นต้น