วช. ขับเคลื่อนงานวิจัยไทย ลดความรุนแรงในสังคม
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ปรากฏทั้งในรูปแบบที่เปิดเผยต่อสาธารณะที่คนในสังคมประสบพบอยู่เสมอ ๆ อาทิ การใช้ความรุนแรงบนท้องถนน การทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นและนักเรียน การก่ออาชญากรรมทางเพศ ฆาตกรรมต่อเนื่อง การจี้ปล้นร้านทอง และล่าสุดมาถึงการยิงกราด ฆ่าหมู่ประชาชนจำนวนมาก รวมตลอดถึงความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไม่ปรากฏต่อสาธารณะอย่างชัดแจ้ง ในรูปแบบของความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และคนชรา เป็นต้น ความรุนแรงเหล่านี้โดยเฉพาะความรุนแรงต่อเด็กจะหล่อหลอมและส่งผลต่อการสร้างคนที่ใช้ความรุนแรงในสังคมไทยในภายภาคหน้าต่อไป
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงได้สนับสนุนโครงการท้าท้ายไทย: สังคมไทยไร้ความรุนแรง แก่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันที่ประสบกับปัญหาความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งความรุนแรงในรูปแบบที่เปิดเผยต่อสาธารณะที่คนในสังคมประสบพบอยู่เสมอ ๆ ทั้งนี้เนื่องจากพิจารณาว่า ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของคนในสังคม นับเป็นปัญหาที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง โดยโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่ วช. ให้การสนับสนุนจะต้องตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของสังคมและเป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นโครงการที่แก้ปัญหาของประเทศ โดยมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก้ปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริง
สำหรับโครงการสังคมไทยไร้ความรุนแรงนี้ วช. คาดว่าจะนำไปสู่ผลกระทบในการลดความรุนแรงในสังคมไทย และเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่สังคมไทยที่ไร้ความรุนแรงให้ได้ในปี ค.ศ.2030 ตามเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาแบบยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในการสร้างสังคมสงบสุขโดยขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบ
การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นพื้นฐานของการวิจัยที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้มีการวิจัยร่วมกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิจัยจากหลากหลายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานปฏิบัติ ประกอบด้วย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, คณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รวมทั้งคณะผู้ร่วมวิจัยจากภาคปฏิบัติ ได้แก่ ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ โรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ขอนแก่น, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, สถาบันอาชีวศึกษา, สถานีตำรวจภูธร, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเรือนจำบางแห่ง เป็นต้น
โครงการวิจัยนี้ประกอบด้วยงานวิจัยย่อยจำนวน 13 เรื่อง ได้แก่ การป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย, แนวทางการพัฒนาต้นแบบในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว, แนวทางการพัฒนาต้นแบบและแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อสตรี, การป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ, ต้นแบบการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา, การป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง, ความรุนแรงร่วมสมัยในสังคมไทย: การก่อการร้าย, กลยุทธ์การสื่อสารและการใช้สื่อสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วนเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว, แนวทางการลดความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนกับบริบทของสังคมไทย, บทบาทของกระบวนการยุติธรรมต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย, โครงการพัฒนาแนวทางเชิงสมานฉันท์ในการจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงในชุมชน, โครงการแนวทางการป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อเด็กตามมาตรฐานสหประชาชาติ, และการบูรณาการงานวิจัยทั้งหมด : “การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง”
โครงการวิจัยนี้ได้มีการดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้มีการนำเสนอต่อเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาคปฏิบัติทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพิจารณาถึงความร่วมมือเป็นเรือธง (Flagship) ในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่แนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งอาจจะปรากฏในรูปแบบของการขยายผลสำเร็จพื้นที่ไร้ความรุนแรงจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่อื่น ๆ หรือ ร่วมกันรณรงค์ให้มีการควบคุมอาวุธปืน การจัดทำฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทย(big data) การจัดทำแผนที่ : ชุมชนรุนแรง หรือชุมชนต้นแบบ (Violence Mapping) เป็นต้น รวมทั้งเสนอแนะต่อแนวทางในการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงได้อย่างแท้จริงต่อไป
การสัมมนาและการนำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้ วช.คาดว่า จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานปฏิบัติกับทีมวิจัยในการขยายผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การสัมมนาและนำเสนอผลการวิจัยในครั้งนี้จะได้มีการทบทวนและอภิปรายให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ ในการบูรณาการนำผลงานวิจัยไปสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทยให้เป็นรูปธรรม ซึ่งมีตัวแทนจากภาคปฏิบัติที่มีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชน มาร่วมรับฟังและให้ความคิดเห็นต่อยอดจากงานวิจัย รวมทั้งการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวิจัย ซึ่งจะได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการนำงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติและในการร่วมสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงอย่างยั่งยืนต่อไป