วช. จัดเวทีวิชาการ “บูรณาการงานวิจัย : ท้าทายไทย…สังคมไทยไร้ความรุนแรง”
วช.ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้สนับสนุนการวิจัย โครงการท้าท้ายไทย ประเด็น สังคมไทยไร้ความรุนแรง รวม 13 โครงการย่อย นำสู่แนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงแนวทางลดความรุนแรงในสังคมตลอดจนพัฒนาต้นแบบและแนวทางในการบำบัดแก้ไขและป้องกันผู้ใช้ความรุนแรงและฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ตั้งเป้าสู่สังคมไทยไร้ความรุนแรงใน 10 ปีข้างหน้า ระบุปี62ไทยติดประเทศที่มีความรุนแรงลำดับที่ 47 จาก 163 ประเทศ ไทยยังมีการกระทำรุนแรงต่อสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุในระดับสูง รวมถึงมีการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน การฆ่าตัวตาย การใช้อาวุธปืนและความรุนแรงจากการก่อการร้ายสูงเช่นกัน
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) สนับสนุนทุนวิจัยภายใต้ โครงการท้าท้ายไทย ประเด็น สังคมไทยไร้ความรุนแรง ในปี 2561 ครอบคลุมความรุนแรง 3 ระดับ ได้แก่ ความรุนแรงต่อตนเอง (Self-directed Violence) ความรุนแรงระหว่างบุคคล (Interpersonal Violence) และความรุนแรงระหว่างกลุ่ม (Collective Violence) รวมการวิจัยย่อย 13 โครงการ และได้มีการตั้งโจทย์การวิจัยในประเด็นเครื่องมือในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรง เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันที่เกิดปัญหาความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของคนในสังคม
การจัดเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัยครั้งนี้ ทางวช.คาดหวังว่า จะช่วยขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่แนวทางในการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ได้งานวิจัยที่มีผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ ซึ่งหมายถึง ช่วยลดความรุนแรงในสังคมไทยภายในปี ค.ศ.2030 ตามเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาแบบยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN)ในการสร้างสังคมสงบสุขโดยขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ รายงาน “โครงการท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่างและคณะ ผู้บริหารจัดการโครงการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนสถานการณ์ใช้ความรุนแรงระดับสูงในสังคมไทย โดยพบว่า ในการจัดลำดับประเทศที่มีความรุนแรงในปี 2562 ไทยติดประเทศที่มีความรุนแรงลำดับที่ 47 จาก 163 ประเทศ
ในด้านความรุนแรงต่อตนเอง ไทยติดอยู่อันดับที่ 32 โดยปี 2561 สถิติการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.34 คนต่อประชากรแสนคน หรือมีจำนวน 4,137 คน ส่วนใหญ่อยู่วัยทำงานอายุระหว่าง 20-59 ปี ซึ่งการฆ่าตัวตายได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปีจากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทยปี 2549
สำหรับความรุนแรงระหว่างบุคคล แบ่งเป็น 1).ความรุนแรงในครอบครัว พบว่า มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยมีสถิติสูงถึง 6,641 เหตุการณ์ในระหว่างปี 2554-2559 จากข้อมูลของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมแและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) 2). ความรุนแรงต่อสตรีพบว่า ในปี 2560 เพศหญิงได้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากคู่ครองสูงถึงร้อยละ 82 3). ความรุนแรงต่อเด็ก เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ชิด โดยข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้พบว่า มีเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรงในช่วง 14 ปี (2547-2561) เป็นจำนวนมากถึง 247,480 ราย และ 4).ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุพบว่า ในปี 2560 มีผู้สูงอายุก่อเหตุฆ่าตัวตายมากกว่า 800 ราย จากสถิติของกรมกิจการผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุจากความรุนแรงด้านจิตใจจากคนในครอบครัว ปัญหาการทอดทิ้งไม่ดูแล ปัญหาถูกหลอกลวงทรัพย์สิน ถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศตามลำดับ
ส่วนความรุนแรงระหว่างกลุ่มในไทย แบ่งเป็น1) ความรุนแรงที่เกิดจากอาชญากรรม ที่พบว่า ปี 2562 ไทยมีดัชนีการเกิดอาชญากรรมเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน รองจากมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนามและอินโดนีเซีย ขณะที่เอลซัลวาดอร์ เป็นชาติที่มีสถิติการฆาตกรรมเกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงสูงที่สุดในโลก 2)ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนในไทยนั้น พบว่า แทบทุกประเภทของความผิดมักมีปืนเข้าไปเกี่ยวข้อง
3) ด้านความรุนแรงของเด็กและเยาวชน พบว่า ไทยติด1 ใน 10 ของโลก ที่มีผู้กระทำผิดอายุระหว่าง 10-29 ปี โดยมีสถิติการกระทำผิดอยู่อันดับที่ 8 ขณะที่องค์การยูนิเซฟพบว่า ความรุนแรงในสถานศึกษาไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนเป็นอันดับ 2 ของโลก ส่วนการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนมักเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาเป็นอันดับ 1 จากสถิติของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ตามด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และชีวิตและร่างกาย สำหรับ 4) ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย นั้น ไทยจัดอยู่อันดับ 10 ของโลกที่เสียหายจากการก่อการร้าย ซึ่งการสูญเสียส่วนใหญ่มาจากเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้านดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เสนอแนะแนวทางป้องกันและลดการก่อเหตุอาชญากรรมใช้ความรุนแรงไว้5ข้อคือ 1.การควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวด 2.การพัฒนาเมืองอัจฉริยะปลอดภัย(เมือง ชุมชน อาคาร บุคคล) 3.พัฒนาชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งในการดูแลกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง 4.กำหนดโทษระยะยาวที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดและ5.รณรงค์การงดสุราในมิติเวลาและสถานที่ ดื่มอย่างเหมาะสม