ทีมวิจัยรร.นายร้อยตำรวจพัฒนาต้นแบบบูรณาการความร่วมมือป้องกัน-แก้ไขความรุนแรงของเด็ก-เยาวชนในสถานศึกษา
รองศาสตราจารย์ พ.ต.อ.โสรัตน์ กลับวิลา คณบดีคณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจและคณะ นำเสนอผลงานวิจัย “ต้นแบบบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา” ภายใต้ “โครงการท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ในเวทีสัมมนาวิชาการ ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ชู 2 หลักการสำคัญเพื่อเป็นต้นแบบความร่วมมือลดความรุนแรงของเด็กและเยาวชน “2-Networks 2-Areas” สร้างเครือข้อมูล เครือข่ายความร่วมมือและเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่แสดงความสามารถสำหรับเด็ก สถานศึกษานำใช้พบสถิติการใช้ความรุนแรงลดลง
รองศาสตราจารย์ พ.ต.อ.โสรัตน์ กลับวิลา คณบดีคณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจและคณะ เปิดเผยว่า การวิจัยใช้เวลา 1 ปี โดยมีขั้นตอนศึกษาค้นหาองค์ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางความรุนแรงในสถานศึกษาที่มีความชุกของความรุนแรง การพิจารณาหน่วยงานที่จะมาแก้ปัญหา ซึ่งใช้เวลา 8เดือนในการค้นหา เริ่มศึกษาในเดือนพฤศจิกายน 2561 และจากนั้นใช้เวลา 4 เดือน เพื่อนำแนวทางไปใช้ในสถานศึกษาหรือโรงเรียนต้นแบบ
จากกิจกรรมที่ทำด้านการค้นหาเส้นทางความรุนแรงของเด็ก ได้ศึกษาเชิงลึกเด็ก 10 คนในหลากหลายมิติจากสถานศึกษาที่มีเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ระดับประถม มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยดูพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเด็ก ศึกษาผู้ปกครอง กลุ่มเพื่อนทั้งภายในและนอกสถานศึกษา รวมศึกษาสถานศึกษาว่ามีแนวปฏิบัติอย่างไรและศึกษาสถานศึกษาที่มีแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงโดดเด่น เพื่อให้ได้องค์ความรู้นำมาตั้งสูตรและจัดทำเป็นโมเดลขึ้นเพื่อไปใช้ในสถานศึกษาจริง
จากการวิจัยได้ค้นพบว่า สถานการณ์ใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปได้ง่าย ๆ และมีการใช้ความรุนแรงกันง่ายขึ้นจนเป็นสิ่งเคยชิน โดยนักเรียนชายใช้ความรุนแรงมากกว่านักเรียนหญิง, การก่อเหตุความรุนแรงระหว่างนักเรียนต่างสถาบันมากกว่าความรุนแรงภายในสถาบันและมักเป็นความรุนแรงระหว่างกลุ่ม ,การแต่งกายและสัญลักษณ์ของสถาบันเป็นตัวล่อให้สถาบันคู่อริโจมตีแม้ไม่รู้จักกัน, มีการพกพาอาวุธยังถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยมีเหตุผลว่า เป็นการป้องกันตัวและสามารถหาซื้ออาวุธได้ง่าย และความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมายอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดการแก้แค้นเอาคืนด้วยวิธีใช้ความรุนแรงตอบโต้
สำหรับรูปแบบการใช้ความรุนแรงแบ่งตามลักษณะการก่อเหตุ มีตั้งแต่ การโต้เถียงท้าทายกัน ไปจนถึงการชกต่อย ตบตีกันตัวต่อตัว การไล่ล่า ขู่ทำร้าย การรีดไถเงิน การแย่งชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนต่างสถาบัน การใช้อาวุธทำร้ายร่างกายและทำให้ถึงเสียชีวิต และการพกพาอาวุธหรือวัตถุระเบิด สิ่งเหล่านี้หากไม่มีการแก้ไขย่อมนำพาสังคมสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ทีมนักวิจัยได้ทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับสถาบันศึกษาต้นแบบ มีการเติมเต็มจุดที่ขาดให้กับสถาบันศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาลดความรุนแรงให้ได้ผลจริง ซึ่งทำให้ค้นพบว่า หลักการสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา จะต้องมี “2-Networks 2-Areas” โดย “2-Networks” หมายถึง การสร้างเครือข่าย 2 ประเภท คือ เครือข้อมูลและเครือข่ายความร่วมมือของสถานศึกษาและหน่วยงานภายนอก ส่วน “2-Areas” หมายถึง การเปิดพื้นที่ 2 ลักษณะ สร้างความผูกพันทางสังคมและเปิดพื้นที่ให้นักเรียนนักศึกษาแสดงความสามารถ
“จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม สิ่งที่นักวิจัยไปเติมเต็มให้แก่สถานศึกษา ได้แก่ “ระบบคัดกรองนักศึกษาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง” ซึ่งสถานศึกษาไม่เคยทำมาก่อน แต่ทีมวิจัยได้พัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นมา ซึ่งอาจารย์จะต้องมีการคัดกรองใหม่อีกครั้งเมื่อเด็กขึ้นภาคการศึกษาใหม่เพื่อจัดเกรด เช่น สีแดงหรือสีส้มที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง อาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องเฝ้าระวัง ติดตามใกล้ชิดว่าเด็กหายไปไหน มีการพูดคุยบนโลกโซเชียลส่อในทางที่จะเกิดความรุนแรงหรือไม่ เป็นต้น อันจะช่วยจำกัดวงไม่ให้เด็กไปก่อความรุนแรง อีกทั้งมีการ “พัฒนาทักษะของอาจารย์” ควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้นักวิจัยยังไปช่วยสร้างเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เครือข่ายพันธมิตรในโรงเรียน โดยเครือข่ายที่เข้มแข็งจะช่วยดูแลเด็ก ๆ ไม่ให้ไปกระทำผิดเหมือนคนในครอบครัวเหมือนลูกของตัวเอง และสร้างเครือข่ายฐานข้อมูล “
ทั้งนี้ในการประเมินผลหลังสถานศึกษานำโมเดลต้นแบบไปใช้ (รวมถึง วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพฯ) พบว่า สถิติการเกิดเหตุใช้ความรุนแรงลดลงไป และผู้บริหารของสถานศึกษายืนยันว่า สิ่งที่นักวิจัยร่วมกันคิดค้นกับทางสถานศึกษาเป็นโมเดลต้นแบบสามารถใช้ได้จริง และสามารถเติมเต็มให้สถานศึกษาควบคุมและป้องกันความรุนแรงได้จริง
รองศาสตราจารย์ พ.ต.อ.โสรัตน์ กล่าวตอนท้ายว่า “เด็กและเยาวชนในช่วงแรก ๆอาจได้รับการขัดเกลาไม่ถูกทาง จะทำให้มีพฤติกรรมในเชิงลบ แต่ถ้าเด็กและเยาวชนได้รับการสั่งสอนที่ดี ได้ต้นแบบที่ดี รวมถึงได้รับคำปรึกษาที่ดี ถูกต้องจะช่วยปรับทัศนคติของเขา จะทำให้เป็นเยาวชนที่ดีในอนาคต การใช้ความรุนแรงจะทำให้บั้นปลายชีวิตของเด็กและเยาวชนไปอยู่ในเส้นทางที่สังคมไม่ต้องการ ขณะเดียวกันถ้าได้รับการขัดเกลาจะทำให้เขามีชีวิตที่ดี ประสบความสำเร็จ
จึงอยากฝากเด็กและเยาวชนทุกคนหลีกเลี่ยงความรุนแรง ยังมีผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ ครูที่ปรึกษา มาครอบครัวคอยดูแลพวกเราอยู่ อยากให้กำลังใจทุกคนครับ”