มรอ.โชว์วิจัยแปรรูปผลไม้ท้องถิ่น “มหกรรมวิจัยส่วนภูมิภาค63”
งาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2563 (Regional Research Expo 2020)” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์(มรอ.) ที่จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับจังหวัดอุตรดิตถ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และเครือข่ายวิจัยภูมิภาคมีสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐจ.อุตรดิตถ์นำผลงานมาแสดงจำนวนกว่า 100 ผลงาน มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์เจ้าของสถานที่จัดหลายบูธโชว์ผลงานวิจัยเกษตรแปรรูปผลไม้เด่นในท้องถิ่น มะม่วง สับปะรด ลางสาด เช่น ไอศกรีมหวานเย็นฟรีซชอตหลากรส สับปะรดห้วยมุ่นฟรีซดราย ขนมหวานกล้วยบวชชี-ข้าวเหนียวมะม่วงทานกรอบ น้ำลางสาดและสเลอบี้ลางสาด
ผศ.ดร.ปฏิพัทธิ์ ถนอมพงษ์ชาติ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ได้นำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมาแสดงหลายอย่าง 1) เป็นผลงานที่เกิดจากผู้ประกอบการในพื้นที่มาทำการวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัย เช่น มะม่วงและสับปะรดห้วยมุ่นฟรีซดราย และฟรีซช็อตไอศกรีมหวานเย็นหลากรส
กรณีไอศกรีมหวานเย็นฟรีซช็อต เป็นไอศกรีมสมูทตี้ที่ไม่ต้องปั่น มีสาร Expolysachharide ที่นำมาใช้เพิ่มคุณสมบัติให้ไอศกรีมมีเนื้อสัมผัสนิ่มละมุนเมื่ออยู่ในปาก มีความคงตัวที่ทำให้ง่ายต่อการผลิตและการเก็บรักษา ซึ่งสาร Expolysachharide นี้ได้มาจากเชื้อจุลินทรีย์ที่นักวิจัยคัดแยกมาจากน้ำมะพร้าว และนักวิจัยพบว่า เชื้อนี้สามารถผลิตสารExpolysachharideได้ดีในอาหารเลี้ยงเชื้อที่เป็นการหมักด้วยแป้งมันสำปะหลังราคาถูก มีราคาเทียบเท่ากับการเติมน้ำตาลในไอศกรีมหวานเย็นในปัจจุบัน ขณะที่ใช้กระบวนการผลิตแบบเดิมๆได้โดยต้นทุนไม่เพิ่ม
2)เป็นผลงานวิจัยของอาจารย์มรอ.เอง เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมหวานฟรีซดราย กล้วยบวชชี ข้าวเหนียวมะม่วงที่สามารถเติมน้ำและอุ่นไมโครเวฟรับประทานหรือเป็นขนมทานแบบกรอบ ๆ ได้ เช่นเดียวกับ ข้าวพันผักและขนมจีนน้ำเงี้ยวซึ่งพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี
ผศ.ดร.ปฏิพัทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ฯมีเครื่องมือและบุคลากรที่พร้อมพัฒนา ให้บริการและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือแก้ไขปัญหาในการผลิต ได้แก่ มีห้องปฏิบัติการฟรีซดราย ที่สามารถนำผลไม้ในท้องถิ่นมาทำผลิตภัณฑ์ฟรีซดรายได้ ,มีศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ แพ็คเกจจิ้งให้กับผู้ประกอบการ,มีทีมนักวิจัยจากหลายคณะที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะวิทยาศาสตร์ ,การให้บริการปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า
“ผู้ประกอบการในจ.อุตรดิตถ์และใกล้เคียงสามารถมาใช้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ได้ ซึ่งมีทั้งเครื่องมือแล็บ การให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจ ทำวิจัยการแก้ไขปัญหาในการผลิตหรืออื่น ๆ ที่อยากจะแก้ไข เพื่อลดต้นทุนได้ มีห้องเวิร์คกิ้งสเปซ ซึ่งเรามีการสนับสนุนส่งเสริมนักศึกษาให้ออกมาเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ(Startup) ด้วย”
นอกจากนี้ทางมรอ.ยังโชว์ผลงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากลางสาด ภายใต้ “โครงการเพิ่มมูลค่าลางสาดอุตรดิตถ์” ซึ่งมี ผศ.ปิยวรรณ ปาลาศ จากคณะเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทั้งนี้ได้เปิดบูธนำน้ำลางสาดสดและสเลอปี้ลางสาดมาให้ผู้เข้าร่วมงานมหกรรมวิจัยได้ทดลองชิมกัน
ผศ. ศรีไพร สกุลพันธ์ คณะวิทยาการจัดการ มรอ. (ที่2จากซ้าย) เปิดเผยว่า โครงการนี้มีวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวนเกษตรอินทรีย์PGS อุตรดิตถ์ ซึ่งมีสมาชิก 26 รายรวมเป็นเกษตรกร เกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการด้วยและผู้ประกอบการ ร่วมกับนักวิจัยจากหลายคณะ รวมถึงคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม โดยทำวิจัยมีทั้งอาหาร(food)และไม่ใช่อาหาร (non-food) เริ่มทำวิจัยตั้งแต่ปี 2559-2560 เป็นผลผลิตจากสวนลางสาดอินทรีย์ ที่มีการส่งผลสดให้กับทางบริษัทเลมอนฟาร์ม 14 สาขา ผลสดแช่แข็งกิโลกรัมละ 200 บาท
“ในส่วนของอาหารยังต้องใช้งานวิจัยช่วย เช่น การแยกเนื้อและเมล็ดยังต้องใช้กำลังคน เนื้อจะดำเร็วต้องรีบแช่ฟรีซและในการทำพาสเจอร์ไรซ์น้ำต้องใช้อุณหภูมิพอเหมาะ ซึ่งผลิตตามฤดูกาล ทดลองตลาดมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี เตรียมยื่นขอการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)และทำโรงเรือนให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้เรายังค้นพบคุณสมบัติเด่นของน้ำลางสาดที่ช่วยต้านโรคมะเร็ง ช่วยลดน้ำตาลในเลือดและช่วยลดการผลิตเม็ดสีผิวเมลานิน ทำให้ผิวขาวกระจ่างใส”
ในส่วนไม่ใช่อาหาร(non-food)ได้มีการพัฒนาสารสกัดจากลางสาดเพื่อนำไปต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ในกลุ่มเวชสำอางหรือขายให้กับผู้ผลิตเครื่องสำอาง โดยสารสกัดที่ได้อยู่ในรูปน้ำ สกัดจากเปลือก เมล็ดและเนื้อลางสาด แต่ยังต้องทดสอบกับผู้ใช้ก่อนพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ภายในบูธได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์เซรัมจากเนื้อ-น้ำลางสาด สครับขัดผิวมาโชว์ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ(วช.)สำหรับการวิจัยต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป
สำหรับผลงานอื่น ๆ เป็นการทำถ่านชีวภาพจากเปลือกทุเรียน ลำไย