กอ.รมน.ร่วม วช.ยกระดับศักยภาพชุมชนทั่วประเทศด้วยวิจัย-นวัตกรรมใต้ MOU เสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มมวลชน
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ร่วมเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มมวลชน ปราชญ์เพื่อความมั่นคงและภาคประชาชนทั่วประเทศ โดย กอ.รมน.และ วช.ร่วมจัดกิจกรรม Kick-off เปิดตัว “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มมวลชน โดยการยกระดับศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ณ ศาลาการเปรียญ วัดมาบแฟบ ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ส่งมอบอุปกรณ์เครื่องมือ 5 อย่างส่งเสริมอาชีพ รายได้ประชาชนในชุมชน
ในการนี้ ได้รับเกียรติจากนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรให้เกียรติกล่าวต้อนรับ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม Kick-off ครั้งที่ 2 ร่วมกับ พลตรีกฤษณะ วัชรเทศ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฎิบัติที่ 1 กอ.รมน. พร้อมนี้ ผู้บริหารของ กอ.รมน.และจังหวัดพิจิตร คณะนักวิจัย และกลุ่มมวลชนจากจังหวัดพิจิตร และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรม
ทั้งนี้ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1(ศปป.1) กอ.รมน. และวช. เดินหน้าแผนระยะแรกเพื่อขยายผลทั่วประเทศ ใน 269 พื้นที่ โดยประมวลผลความต้องการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและโจทย์การเสริมสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ตรงความต้องการใช้งานของกลุ่มมวลชน
ซึ่งมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปเพิ่มศักยภาพและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชุมชนใน 5 ผลงาน ได้แก่
1)เครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน สู่ชุมชน 6 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2)ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ สู่ชุมชน 10 พื้นที่ ใน 8 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
3)ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหรือพาราโบล่าโดม สู่ชุมชน 4 พื้นที่ ใน 4 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร
4)เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สู่ชุมชน 18 พื้นที่ ใน 13 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
5)เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ สู่ชุมชน 231 พื้นที่ ใน74 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยนเรศวร
โดยมุ่งหวังเมื่อปราชญ์เพื่อความมั่นคงและกลุ่มมวลชนของกอ.รมน.ในพื้นที่นำร่อง ได้รับนวัตกรรมและองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ชุมชนสามารถลดระยะเวลาในกระบวนผลผลิต ลดต้นทุน ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดี รวมทั้งยังสามารถช่วยเสริมรายได้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีอีกครั้งที่วช.และกอ.รมน. ในการเดินหน้านำวิจัยและนวัตกรรมมาแก้ปัญหาและยกศักยภาพของชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งพิจิตรถือเป็นอีกพื้นที่นำร่องในการปูพรมให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค โดยนวัตกรรมที่นำมามอบให้มี 5 อย่าง ได้แก่ 1.เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ ที่ต่อยอดมาจากหลังมีการมอบเตาชีวมวลไปมากกว่า 200 พื้นที่ โดยวช.มาช่วยพัฒนาต่อยอดให้เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ใช้ระยะเวลาสั้นลง มีประสิทธิภาพดีขึ้น เกษตรกรสามารถใช้ลดต้นทุนในการทำเกษตร 2.ตู้เพาะเห็ด ซึ่งสามารถเพาะได้ 120 ก้อนในเวลาสั้น สามารถคุมคุณภาพ ได้ผลผลิตปริมาณสูงกว่า ช่วยเสริมรายได้หลังจากทำการเกษตรหลัก 3.พาราโบล่าโดม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับไม้ผล การแปรรูปทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดคุณภาพดี 4.เครื่องอบเมล็ดพันธุ์พืช ส่วนใหญ่ใช้อบเมล็ดพันธุ์ข้าว ลดความชื้นทำได้วันละประมาณ 4 ตัน 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง 1ชุดเหมาะกับวิสาหกิจขนาด 30-50 ครัวเรือน 5.นวัตกรรมเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าพื้นที่การเกษตร
“โดยภาพรวมทำงานร่วมกับกอ.รมน.มี 269 พื้นที่ โดยในการทำงาน กอ.รมน.เป็นผู้ชี้โจทย์และพื้นที่ ขณะเดียวกันยังมีกลไกที่วช.ร่วมมือกับทางจังหวัด เมื่อนวัตกรรมมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดี ทางจังหวัดจะใช้แผนปฏิบัติการประจำปีเพื่อจัดสรรงบประมาณออกมาสนับสนุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชน”
ด้าน นายสิริรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรกล่าวว่า วันนี้เป็นโครงการนำร่อง นำเทคโนโลยีใหม่มอบแก่เกษตรกร ซึ่งจังหวัดมีงบประมาณสนับสนุนหากกลุ่มใดที่เข้มแข็งและมีความพร้อม สามารถบริหารจัดการได้ดีสามารถส่งความต้องการมาได้ โดยจังหวัดมีงบประมาณสนับสนุนทางภาคเกษตรมากกว่า 20 ล้านบาท
ฝ่าย พลตรีกฤษณะ วัชรเทศ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฎิบัติที่ 1 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน.มีภากิจด้านความมั่นคง จะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสุข งานวิจัยและนวัตกรรมจะมาช่วยลดต้นทุน เสริมรายได้ให้ประชาชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป เรามีการจัดกิจกรรมมาตลอดตั้งแต่ปี 2559 โดย ท่านยกรัฐมนตรีได้ตั้งศูนย์ประสานงานที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะประสาน 7424 ตำบล คัดเลือกปราชญ์ชาวบ้านแต่ละตำบล โดยมีการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ประสานและแต่ละจังหวัดคัดเลือกผู้แทนมาและการร่วมมือกับวช.เป็นการนำนวัตกรรมมาช่วยเสริมเพื่อช่วยเพิ่มรายได้