วช.ร่วมราชบัณฑิตยสภา-กูรูสังคมศาสตร์ถก “จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุคCOVID-19” แนะมีสติ-ดูแลตัวเอง-คนรอบข้าง-สังคม
วช. ร่วมกับ ราชบัณฑิตยสภา รวบรวมกูรูด้านสังคมศาสตร์จัดเสวนาหัวข้อ “จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุค COVID-19” ในวันที่ 12 มีนาคม 2563 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง และนำเสนอข้อชี้แนะในการปฏิบัติตัว สร้างความเข้าใจให้ประชาชนและสังคมในการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพควบคู่กับภาวะวิกฤติการระบาดของโรค COVID-19 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ได้แก่ สังคม สุขภาพ การแพทย์ และเศรษฐกิจของประเทศ เข้าร่วมกิจกรรม ระบุไวรัสร้ายยังไม่มีวัคซีนรักษา ต้องใช้เวลาในการรับมือและรวบรวมองค์ความรู้เพื่อใช้ในการรักษา วินิจฉัยและป้องกัน ทุกคนจึงต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับไวรัสร้ายให้ได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะประชาชนต้องมีสติ ดูแลตัวเอง ใส่ใจคนรอบข้าง ครอบครัว และสังคมและกลั่นกรองข่าวสาร สร้างสังคมที่เข้มแข็งเพื่อต่อสู้ปัญหาไปด้วยกัน
กว่า 3 เดือนแล้ว ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งนับว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ส่งผลกระทบในวงกว้างและมีแนวโน้มที่จะยังแพร่กระจายไปยังทั่วทุกมุมโลกอย่างต่อเนื่อง หลากหลายมุมมองหลากหลายปัญหาเกิดขึ้นตามๆ มาเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่นักการแพทย์และสาธารณสุขผู้ซึ่งอยู่ด่านหน้าของสงครามเชื้อโรคนี้จะต้องหาวิธีการที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนวัตกรรม ต้องเร่งค้นหาความลับที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เพื่อทำความเข้าใจและหาทางแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
ภายใต้ภาวะความเครียดและข้อจำกัดของเวลา สิ่งสำคัญที่สังคมโลกไม่สามารถปฏิเสธได้เลยจากเหตุการณ์ระบาดครั้งนี้ คือ ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติ จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุค COVID-19
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ ว่าเป็นการมุ่งเน้นที่จะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและสังคมในการใช้ชีวิตในภาวะวิกฤติการระบาดของโรค COVID-19 การลดความตื่นตระหนกและทำความเข้าใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาด การลดความตึงเครียดและสร้างเสริมภูมิต้านทางด้านจิตใจ ความเข้าใจเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันในสังคม การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ชุมชนเพื่อเป็นเกราะพลังทางจิตใจ การเสพข่าวที่เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและมีความเข้าใจก็จะสามารถทำให้เราสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน
“การระบาดของโรคที่ขยายวงกว้างมาตลอดระยะเวลา 3 เดือน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดได้ในเร็ววัน ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบร่างกายเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อ ธุรกิจ ผู้ประกอบการ แรงงาน ผู้บริโภค และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อจิตใจ สภาพคล่องทางการเงิน กระทบกันเป็นลูกโซ่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย สังคมโลกหรือไม่ ทำอย่างไรที่เราจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในห้วงเวลานี้”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ยังได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ มีการทักทายกันแบบไม่สัมผัสมือ แต่ใช้การไหว้แทนหรือการใช้ศอกชนกัน การเก็บตัวอยู่ที่บ้าน การเว้นระยะห่างกันในห้องสัมมนาหรือในห้องอาหาร ยืนเข้าแถวห่างกันเพื่อใช้บริการต่าง ๆ เป็นต้น
ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ ประกาศให้โรค COVID-19 เป็นการระบาดทั่วโลกแล้ว โอกาสการติดเชื้อไวรัส COVID-19 เท่ากัน ผู้ไม่มีอาการก็สามารถแพร่กระจายโรคได้ ผู้ป่วยสามารถขับเชื้อทางอุจจาระ และไอจาม แต่พบผู้ป่วยมากในอายุ 30-80 ปี เด็กพบน้อยและไม่มีอาการและไม่มีอาการรุนแรง อัตราการเสียชีวิตต่ำในกลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่มีอัตราเสียชีวิตสูงในกลุ่มผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้เสียชีวิต 2ใน 3 มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
ขณะนี้โรคกระจายไปข้ามทวีปแล้ว มากกว่า 100 ประเทศ ในจีนการระบาดของโรคอยู่ในช่วงขาลง แต่นอกประเทศจีนกลับอยู่ขาขึ้น ทำอย่างไรเราจึงจะอยู่กับโรคนี้ได้ ซึ่งหากปล่อยไปตามธรรมชาติโรคจะสงบลงได้เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานโรค แต่อาจเกิดการสูญเสียจำนวนมากในช่วงที่เกิดการระบาดสูงสุดและระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้ ดังนั้นทางการแพทย์จึงมีมาตรการต่าง ๆ แทรกแซงเพื่อชะลอโรคให้มากที่สุด เพื่อยืดเวลา รอให้มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ รอยา รอวัคซีนมาช่วยรักษาและรอระบบสาธารณสุขรองรับได้ การระบาดจะลดลง โดยสามารถอยู่กับโรคได้แต่ไม่หวาดกลัวเหมือนเมื่อเกิดโรคใหม่ ๆ
“เราจะอยู่อย่างไรถ้าไทยเป็นแหล่งระบาดของโรค ทุกคนต้องทำงานหนักขึ้น ทุกคนต้องช่วยกัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลตัวเอง เช่น ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง สร้างความเชื่อมั่นในองค์กรต่าง ๆ การปรับนำระบบออนไลน์มาใช้ และขณะเดียวกัน สังคมต้องช่วยกัน ให้กำลังใจกันและเป็นผู้ให้”
ด้านรศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้อีกอย่างคือ “ไวรัสในใจคน” ห่วงว่า ความรู้ ปัญญา จะนำมาใช้ทันเวลาหรือไม่ ในยามมีภัยคุกคาม หรือสติแตก ซึ่งต้องใช้โอกาสนี้เรียนรู้ ทั้งนี้ได้แนะให้นำความเข้าใจเรื่องของ “จิตใจ” กลับมา เพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับคนในสังคม โดยมีการสื่อสารที่อบอุ่น ให้คนรับได้อบอุ่นใจว่า สังคมไทยจะมีการดูแลกันไปเป็นสิ่งสำคัญ ต้องสร้างภูมิต้านทานทางสังคม
“การสื่อความไม่พอใจ เป็นไวรัสที่น่ากลัว ทำให้เกิดการเกลียดชัง แตกแยก ช่วงนี้ เป็นช่วงที่ต้องทำให้ทุกคนมีความสงบทางจิตใจ นิ่ง เหมือนไฟไหม้บ้าน ทุกคนต้องช่วยกันดับ ไม่ช่วยดับไม่เป็นไร อย่าจุดเพิ่ม ต้องช่วยกันดูแลจิตใจกัน”
ขณะที่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภากล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งทำในขณะนี้คือ ต้องช่วยกันให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อนำสู่การปฏิบัติ ถูกต้องหรือไม่ใครเป็นผู้ตัดสิน เพื่อนำสู่การบอกต่อถึงสิ่งที่ต้องเตรียมตัว เช่น เรื่องหน้ากากอนามัย ห้องน้ำ ห้องเรียน ห้องอาหาร
ทั้งนี้ในกระบวนการสื่อสารนั้นประกอบด้วย สื่อ รัฐบาล ผู้รู้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้รับสาร ส่งสาร พร้อมเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องมีแถลงการณ์ชัดเจน ถึงการเตรียมพร้อม มีการตั้งโต๊ะแถลงชัดเจน ให้ข้อมูลความจริง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยตอบคำถาม ในขณะที่การสัมภาษณ์ ต้องมีกรอบสัมภาษณ์ ตามประเด็น ขณะเดียวกันสถานการณ์ในขณะนี้นอกจากโรคทางกายแล้ว ยังเป็นโรงทางสังคมด้วย การบริหารการข่าวจึงมีความจำเป็น บริหารความกลัว ถ้ามีผู้ป่วยหายแล้ว ให้นำมาคุยกันว่า เป็นอย่างไรบ้าง สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้หรือไม่และศัพย์ภาษาที่ใช้สื่อสารออกไปควรให้ชาวบ้านเข้าใจ
“โดยสรุปแล้ว เราต้องรวมพลังกันและมีความหวังว่า อยู่ได้ คาดว่าจะต่อต้านไวรัสร้ายนี้ได้และใช้กระบวนการสื่อสารช่วยสร้างกำลังใจ”
ฝ่ายนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาโรคระบาดในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง WHO ได้วิเคราะห์การฝ่าวิกฤติครั้งนี้ของจีนและประเทศต่าง ๆ พอจะสรุปได้ว่า 1. ความเชื่อมั่นของรัฐบาลมีความสำคัญ 2.ความเชื่อมั่นในผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนเชื่อฟังและ3.การมีวินัยของประชาชน
ส่วนการที่เราจะอยู่อย่างไรนั้น สิ่งแรกคือ ต้องมีสติ มีการกลั่นกรองข่าวสาร ซึ่งขณะนี้พบเฟคนิวส์จำนวนมาก , การดูแลตัวเอง ช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลกันและกัน นำชีวิตแบบไทย ๆ มาใช้ เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันกัน ,และส่งเสริมไทยเที่ยวไทย และท่องเที่ยวในที่ที่เป็นพื้นที่เปิด
นายกลินท์ กล่าวอีกว่า ทางหอการค้าไทยยังแนะให้มองว่า วิกฤตในขณะนี้เป็นบวก เช่น เป็นโอกาสที่จะได้แก้ไขกฏหมายที่ล้าสมัย , การซ่อมแซมองค์กร แก้ปัญหาด้านสื่อสารและการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ การศึกษาให้หันมาใช้เทคโนโลยี เรียนออนไลน์เพิ่มขึ้น ขายของออนไลน์ พร้อมเห็นด้วยว่า พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เกิดระเบียบ ธรรมเนียมใหม่ ๆ เช่น การยกมือไหว้เพื่อทักทายกันและดูแลด้านสุขอนามัยกันเพิ่มขึ้น เกิดการแชร์แพลทฟอร์ม เป็นพันธมิตรกัน แชร์ทรัพยากรกันให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
นอกจากนี้นายกลินท์ได้ย้ำว่า การสื่อสารของรัฐบาลมีความสำคัญและต้องสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐ โดยแนะให้ตั้งศูนย์บริการข้อมูลไวรัส บริการ24 ชั่วโมง รวบรวมข้อมูลต่างๆไว้