เลขาธิการ คปภ. ลงนามแล้ว !! ประกาศการขายประกันเฉพาะกิจ “Digital Face to Face” สู้ภัยโควิด-19


เลขาธิการ คปภ. ลงนามแล้ว !! ประกาศการขายประกันเฉพาะกิจ “Digital Face to Face” สู้ภัยโควิด-19 เพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยแก่ประชาชน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน คปภ. ได้ลงนามในประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ.2563 โดยให้อำนาจสำนักงานในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ ให้แตกต่างจากประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ พ.ศ. 2561 (ประกาศการขายประกันฉบับปี 2561) ในกรณีจำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด–19 นั้น สำนักงาน คปภ. ได้ประชุมร่วมกับสมาคมตัวแทนและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจประกันภัยในการปรับกติกาที่ใช้ในปัจจุบัน ให้มีความยืดหยุ่น และนำมาใช้เป็นการชั่วคราว กรณีการเกิดข้อขัดข้องในทางปฏิบัติของช่องทางการเสนอขายที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของ Face to Face ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19



โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยแบบ Face to Face ตลอดจนหลักการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การออกประกาศเฉพาะกิจนี้ อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง



ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2563 เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามในประกาศ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2563 (ประกาศการขายประกันเฉพาะกิจ Digital Face to Face) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

- ให้การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย แบบ Face to Face หรือธนาคาร สามารถใช้วิธีการสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดย เสียง และ/หรือภาพ กับลูกค้าได้ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit – Linked) และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่มีความซับซ้อนและอาจมีข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสำนักงาน กลต. ด้วย
- กำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องมีความพร้อมของระบบหรือกระบวนงานที่รองรับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย โดยให้ผู้เสนอขายใช้วิธีการสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยข้อความ เสียง และ/หรือภาพ เช่น การจัดเก็บการสนทนาระหว่างผู้เสนอขายและลูกค้า การตรวจสอบคุณภาพการขาย การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตามกฎหมาย เป็นต้น
- ในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย จะต้องมีการบันทึกเสียงหรือภาพการสนทนาไว้ โดยผู้เสนอขายต้องอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขาย โดยใช้เอกสารประกอบการเสนอขายที่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทเท่านั้น รวมถึงต้องสอบถามข้อมูลเพื่อทราบความจำเป็น ความต้องการ วัตถุประสงค์ในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อแนะนำแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย (Suitability Requirement) ของลูกค้า
- กรณีลูกค้าสนใจทำประกันภัย ให้ผู้เสนอขายสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เพื่อกรอกข้อมูลของลูกค้าในคำขอเอาประกันภัย และเอกสารประกอบการเสนอขาย และส่งให้ลูกค้าตรวจสอบความถูกต้องผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แอพพลิเคชั่นที่ตกลงกับลูกค้า ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) การส่งข้อความสั้น (SMS) ทั้งนี้ หากลูกค้าตกลงทำประกันภัย ให้ลูกค้าส่งข้อความยืนยัน พร้อมส่งภาพบัตรประชาชน คำขอเอาประกันภัย และหลักฐานการชำระเบี้ยประกันภัยเข้าบัญชีบริษัท โดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน และเมื่อบริษัทได้รับชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว ให้ออกเอกสารการรับเงินโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกค้าทันที
- เมื่อบริษัทตกลงรับประกันภัย บริษัทจะส่งกรมธรรม์ประกันภัยโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนก็ได้
หากผู้เอาประกันภัยยินยอม และให้เริ่มนับระยะเวลาขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย (Free Look Period) ตั้งแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยไปถึงผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ บริษัทต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยและเอกสารแสดงการรับเงินฉบับจริงให้ผู้เอาประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เอาประกันภัยอาจแจ้งความประสงค์ให้บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัทต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต/การชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 - เมื่อบริษัทออกหรือส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ภายใน 7 วัน บริษัทจะต้องโทรศัพท์ไปขอคำยืนยันการทำประกันภัย (confirmation call) และหากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะยกเลิกการทำประกันภัย ให้บริษัทคืนเบี้ยเต็มจำนวนให้ผู้เอาประกันภัย ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการยกเลิกนั้น
“ประกาศการขายประกันเฉพาะกิจ Digital Face to Face จะใช้คู่กับประกาศการขายประกันฉบับปี 2561 ซึ่งเป็นประกาศหลักที่ใช้ในปัจจุบัน โดยจะช่วยเสริมให้เกิดความคล่องตัวเพื่อให้การปฏิบัติตามประกาศการขายประกันฉบับปี 2561 สามารถดำเนินการได้ โดยเปิดช่องให้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบ Face to Face เพื่อแก้ปัญหาในทางปฏิบัติในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยจะใช้เป็นการเฉพาะกิจในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดนี้ ซึ่งการใช้ประกาศเฉพาะกิจฉบับนี้จะเปรียบเสมือน Regulatory Sandbox ของกติกาในการกำกับดูแลของ คปภ. โดยหากประเมินแล้วพบว่ากติกาเฉพาะกิจนี้ใช้ได้ผลดี ก็อาจพิจารณานำส่วนที่เหมาะสมมาปรับใช้ในประกาศฉบับถาวรก็ได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย