เปิดตัวนวัตกรรมห้องตรวจผู้เสี่ยงติดโควิด-19 แห่งที่ 2 พร้อมมอบระบบ Tele-Monitoring ปกป้องบุคลากรการแพทย์ รพ.รามาธิบดี

มูลนิธิเอสซีจี ส่งมอบนวัตกรรมห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง แห่งที่ 2 และระบบ Tele-Monitoring มูลค่ารวม 2.5 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้เวลาติดตั้งหน้างานเพียง 1 วันครึ่ง ทันความต้องการใช้งานในวันทำการ จุดเด่นที่ขนาดกะทัดรัด เหมาะสมกับพื้นที่ ช่วยร่นระยะเวลาและเพิ่มจำนวนคนไข้สำหรับการตรวจในแต่ละรอบได้ ด้วยระบบที่ตอบโจทย์การใช้งานและความปลอดภัย ทั้งการแยกพื้นที่ทีมแพทย์-คนไข้ออกจากกัน และการมีระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม จึงช่วยลดโอกาสติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

มูลนิธิเอสซีจี ส่งมอบนวัตกรรมห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Swab Unit) แห่งที่ 2 และระบบติดตามสุขภาพทางไกล (Tele-Monitoring) ที่เอสซีจีร่วมพัฒนา รวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งห้องครัวผู้ที่มีความเสี่ยงนี้ใช้เวลาติดตั้งหน้างานเพียง 1 วันครึ่งในช่วงวันหยุด เพื่อให้ทันต่อการเปิดใช้งานในวันทำการของโรงพยาบาล โดยเป็นห้องตรวจที่มีขนาดกะทัดรัด เหมาะสมกับพื้นที่ แต่สามารถรองรับการใช้งานของทีมแพทย์ได้ถึงคราวละ 5 คน และคนไข้อีก 5 คน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบคัดกรองที่ทางโรงพยาบาลมีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถดำเนินการตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยระบบควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศ ที่ช่วยให้อากาศสะอาด ลดโอกาสติดเชื้อ และระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ที่ช่วยป้องกันฝุ่น เสียง และอากาศ เข้า-ออกตัวอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับห้องตรวจที่ส่งมอบที่โรงพยาบาลราชวิถีไปแล้ว อีกทั้งจะแยกคนไข้และทีมแพทย์ออกจากกัน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจาย และทีมแพทย์จะดำเนินการเก็บตัวอย่าง (Swab) โดยสอดมือผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่องและมีถุงมือติดไว้ ซึ่งนอกจากจะมีการใช้แสงยูวีเข้มข้นสูงในการฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) ที่ถุงมือและภายในห้องหลังการใช้งานทุกครั้งแล้ว ยังมีถุงมือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เปลี่ยนสำหรับคนไข้แต่ละคนครอบด้านนอกอีกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ทั้งแพทย์และคนไข้ นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการทั้งหมดยังจะถูกแยกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อแยกปิดได้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ต้องการห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเปิดรับบริจาคเงินเพื่อจัดหาห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงส่งมอบให้โรงพยาบาลที่มีความจำเป็น โดยผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2888


