เผยบทเรียนจากสิงคโปร์ กับ 6 จุดอ่อนที่ต้องระวัง
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยรายงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้วิเคราะห์ถอดบทเรียนจากกรณีของประเทศสิงคโปร์ซึ่งประสบความสำเร็จในระยะแรกของสงครามกับโควิด-19 โดยสามารถชะลอการระบาดได้กว่า 3 เดือน แต่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีจุดอ่อนสำคัญ 6 จุด ที่ต้องระวัง คือ
- หอพักคนงานชาวต่างชาติ
•สิงคโปร์มีพนักงานชาวต่างชาติ 1,400,000 คน ทั้งวิชาชีพชั้นสูงและผู้ใช้แรงงาน โดยเป็นคนทำงานก่อสร้าง 284,000 คน และคนทำงานบ้าน 255,000 คน
•คนงานชาวต่างชาติพักอยู่ในหอพัก ซึ่งอยู่กันอย่างแออัด ผู้ติดเชื้อกว่าครึ่งของประเทศ เป็นกลุ่มที่พักอยู่ในหอพักเหล่านี้
•พบผู้ติดเชื้อกว่า 2,000 รายจาก 19 หอพักในจำนวน 43 แห่ง
•รัฐบาลได้ประกาศให้ 12 หอพักเป็นพื้นที่กักกันโรค เป็นเวลา 14 วัน
•หอพักที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ S11 Dormitory @ Punggol มีผู้ติดเชื้อ 979 ราย - คนสิงคโปร์ที่กลับมาจากต่างประเทศ
•มีคนสิงคโปร์กลับมาจากต่างประเทศในช่วงหลังเป็นจำนวนมาก รัฐบาลให้ทำ Home quarantine เองที่บ้าน เป็นเวลา 14 วัน (ประเมินว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้ามาประมาณ 500 คนที่ตรวจไม่เจอตอนที่เข้าประเทศ) แต่ตอนกักตัวเองอยู่ที่บ้าน คนจำนวนหนึ่งไม่ได้เข้มงวดมากนัก มีการสัมผัสใกล้ชิดกับคนในบ้าน ทำให้แพร่ต่อภายในบ้าน/ครอบครัว แล้วต่อมาก็กระจายไปให้คนอื่นต่อไปอีก
•ต่อมารัฐบาลจึงต้องปรับนโยบายให้ทำ Government quarantine (State quarantine) - ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ Social Distancing
•คนที่อยู่ร่วมกลุ่มกันหรือมีกิจกรรมอย่างใกล้ชิดอาจเกิดเหตุการณ์ “Super spreader” ที่นำไปสู่การติดเชื้อจำนวนมาก เช่น งานเลี้ยงอาหารค่ำ SAFRA Jurong ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 47 ราย
•รัฐบาลต้องแนะนำให้มีกิจกรรมทางสังคมเฉพาะกับสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันเท่านั้น
-ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคมทั้งในและนอกบ้าน เช่น รับประทานอาหารกับคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน และพบปะเพื่อนฝูงในสวนสาธารณะ เป็นต้น
-ควรอยู่บ้านให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
•การออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นหรือไม่สวมหน้ากากเมื่อออกไปข้างนอก มีความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการแต่ไม่รุนแรง เพราะสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
•สิงคโปร์ต้องใช้เจ้าหน้าที่กว่า 3,000 คนเพื่อดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรการ มีการออกคำเตือนมากกว่า 6,200 ครั้ง และปรับมากกว่า 1,000 ครั้ง ตั้งแต่ที่เริ่มประกาศใช้มาตรการ - บ้านพักคนชรา
•ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 10 รายในสิงคโปร์มีอายุมากกว่า 60 ปี
•บ้านพักคนชรา Lee Ah Mooi พบผู้ติดเชื้อ 16 รายและมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทั้งคู่เป็นหญิงชราวัย 86 ปี - ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กและโรงเรียนเตรียมอนุบาล
•เด็กจำนวนมากเป็นพาหะของโรคที่ไม่แสดงอาการและอาจติดเชื้อจากหรือไปสู่ผู้สูงอายุในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว
•มีผู้ติดเชื้อ 30 รายที่พบจาก 2 ศูนย์และอีก 10 รายพบจาก 10 ศูนย์ โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ เด็ก และสมาชิกในครอบครัว โดยใน 40 รายที่พบเป็นเด็ก 8 คนและผู้ใหญ่ 32 คน
•กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือศูนย์ Sparkletots พบผู้ติดเชื้อ 27รายโดยเป็นเด็ก 4 ราย และเป็นผู้ใหญ่ 23 ราย
•ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.63 ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กได้ระงับการให้บริการ เว้นแต่กรณีผู้ปกครองที่มีความจำเป็น และไม่สามารถหาวิธีการดูแลเด็กด้วยวิธีอื่นได้ - สถานที่ทำงาน
•ประมาณร้อยละ 20 ของพนักงานในสิงคโปร์ยังคงต้องทำงานอย่างต่อเนื่องสำหรับการให้บริการที่จำเป็น
•รัฐบาลพยายามที่จะลดจำนวนกิจการที่ถือว่ายังมีความจำเป็นลงไปอีก เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสได้ดียิ่งขึ้น
•สถานที่ทำงานที่ได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการได้ต้องมีมาตรการดูแลและระมัดระวังอย่างมาก เช่นต้องให้พนักงานสวมใส่หน้ากาก จัดโต๊ะทำงานให้ห่างกัน และรับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น
ประมวลข้อมูลโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.)
แหล่งข้อมูล: BBC news และ The Straits Times, online