รองนายกฯ อนุทิน มอบต้นแบบชุดเครื่องมือ สสส. “สู้!โควิด-19 ไปด้วยกัน” นำร่อง 10 จังหวัด
รองนายกฯ อนุทิน มอบต้นแบบชุดเครื่องมือ สสส. “สู้!โควิด-19 ไปด้วยกัน” นำร่อง 10 จังหวัด เน้นกลุ่มเสี่ยง-เปราะบางในชุมชนแออัด ฝาก สสส. เดินหน้าสร้างสังคมสุขภาวะหลังวิกฤติ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นประธานส่งมอบชุดเครื่องมือดูแลตนเอง “สู้! โควิด-19 ไปด้วยกัน” ที่ สสส. และกระทรวงสาธารณสุขร่วมพัฒนาต้นแบบการสนับสนุนข้อมูลการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดในพื้นที่ทั้งในระดับชุมชน ตำบลโดยชุดเครื่องมือดูแลตนเองประกอบด้วยคู่มือดูแลตนเอง, เครื่องมือจำเป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวัน อาทิ สเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ปรอทวัดไข้ หน้ากากผ้ามัสลิน
นายอนุทิน กล่าวว่า สสส. ได้จัดทำชุดเครื่องมือดูแลตนเองฉบับประชาชนซึ่งนำข้อมูลทั้งด้านการป้องกันตนเอง ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่กักตัว การดูแลเด็กเล็ก วิธีการสังเกตตนเอง ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ดูแลอาคารชุด หอพัก คอนโด ฯลฯ อธิบายด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนทั่วประเทศ ในการเฝ้าระวังตนเอง ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน ตำบล และจังหวัด โดยส่งมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นำร่องใน 10 จังหวัดทั่วประเทศประกอบด้วย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครนายก นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส สามารถนำไปเป็นสื่อต้นแบบที่และผลิตซ้ำตามบริบทของพื้นที่ได้เพื่อกระจายผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์กักตัวโดยขอให้เน้นสื่อสาร ทำความเข้าใจและส่งต่อให้ถึงเครือข่ายคนไร้บ้าน และชุมชนแออัด เป็นอันดับแรกก่อน โดยภายในชุดเครื่องมือฯ นอกจากมีคู่มือในการดูแลตนเองแล้ว ยังมีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ และแชมพู เป็นต้น โดยความร่วมมือจากภาคเอกชน อาทิ บ.ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด
“สถานการณ์ในวันนี้เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนด ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, การจำกัดพื้นที่, การจำกัดการเข้าออกของต่างชาติ ความทุ่มเทและทำงานของเต็มที่ในการรับมือโรคระบาดของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยกระชับพื้นที่และให้ผลลัพธ์ในทิศทางที่ดีเชื่อว่าเมื่อคนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจ เราจะผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ อีกทั้งเชื่อว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้คนไทยจะให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างถูกสุขอนามัย และปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ ดังนั้นการดำเนินงานในก้าวต่อไปของ สสส. และภาคีเครือข่าย จะต้องเป็นหนึ่งในแกนหลักเพื่อสนับสนุนการปรับวิถีชีวิตแบบใหม่สร้างสังคมสุขภาวะ และลดปัจจัยเสี่ยง การติดต่อของเชื้อโรคอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับที่ สสส.รณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี” นายอนุทิน กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ท้องถิ่น 55 แห่ง แต่ละแห่งมีเครือข่ายแห่งละ 15-20 ตำบล รวม 155 ตำบล ทำแนวทางเฝ้าระวัง ควบคุมและกำหนด “มาตรการชุมชน ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19” ซึ่งชุดคู่มือนี้ จะเป็นแนวทางในการจัดการระดับชุมชน ครัวเรือน บุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมการปฏิบัติตนของผู้ที่มีความเสี่ยง และครอบครัวผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เครือข่ายคนจนเมือง คนไร้บ้าน ซึ่งเครือข่าย สสส. ได้ประสานเข้าถึงกลุ่มเหล่านี้ เพื่อส่งต่อชุดข้อมูลการดูแลตนเอง รวมทั้งการผลิตสื่อที่สอดคล้องกับกลุ่มประชากร อาทิ แรงงานต่างด้าว ชนเผ่า ผู้พิการ ในภาษาเมียนมาร์ ลาว เขมร ยาวี ภาษมือ ภาษาชาติพันธ์ เช่น ลาหู่ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆ