มุมเกษตร.. หนุนเกษตรกรเลี้ยงโคขุน 6 เดือน มีรายได้เสริมกว่า 20,000 บาท
นางลำเจียก ลี้ฮ่วน ผู้จัดการสหกรณ์นิคมพิชัยพัฒนา จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า จากการที่สหกรณ์ฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกเลี้ยงโคเนื้อในโรงเรือนแบบรวมกลุ่มด้วยวิธีการสหกรณ์ โดยขั้นตอนในการเลี้ยง เกษตรกรสมาชิกจะรวมกลุ่มกันตามความสมัครใจ (กลุ่มละประมาณ 5 -10 คน) เพื่อขอสินเชื่อจากสหกรณ์ในการจัดหาโคเนื้อตามจำนวนที่ต้องการ นำมาเลี้ยงในโรงเรือนที่สหกรณ์จัดเตรียมไว้แล้ว โดยสมาชิกในกลุ่มจะผลัดกันเข้ามาดูแลเป็นประจำทุกวัน
ในส่วนของสหกรณ์จะเป็นผู้จัดซื้อวัวมาให้เกษตรกรเลี้ยง สายพันธุ์ที่คัดเลือกเป็นโคขุนเลือดผสมระหว่างสายพันธุ์แองกัส และพันธุ์วากิว สายเลือดประมาณ 50-75 % โดยนำวัวต้นน้ำ (ลูกวัวที่หย่านมแล้ว อายุประมาณ 1 ปี) มาเลี้ยงระยะเวลา 4-6 เดือน ให้เป็นวัวกลางน้ำ ให้ได้น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม/ตัว ขึ้นไป จากนั้นสหกรณ์นิคมพิชัยพัฒนา จำกัด จะขายวัวให้กับชุมนุมสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่มีสมาชิกสหกรณ์ที่ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อใน 16 จังหวัด) เพื่อนำไปกระจายให้สหกรณ์ที่เป็นสมาชิกทำการขุนให้เป็นวัวปลายน้ำ อีกไม่เกิน 12 เดือน เพื่อให้ได้คุณภาพเนื้อและไขมันแทรกตามที่ต้องการ
จากนั้นจึงส่งไปชำแหละขายเป็นเนื้อโคขุนชั้นดีที่โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุน ของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร หลังจากเลี้ยงวัวกลางน้ำได้ 4-6 เดือน เมื่อได้น้ำหนักตามที่ต้องการ สหกรณ์จะขายวัวและหักเงินกู้ยืมและรายจ่ายอื่น ๆ เกษตรกรจะมีรายได้เหลือหลังจากขายวัวประมาณตัวละ 17,000 – 22,800 บาท เฉลี่ยแล้วในช่วง 4-6 เดือน เกษตรกรจะมีรายได้จากการเลี้ยงวัวคนละประมาณ 1,800 บาท/เดือน/วัว 1 ตัว และในแต่ละสัปดาห์เกษตรกรจะมีรายได้จากการนำมูลวัวตากแห้งไปขายประมาณสัปดาห์ละ 400-500 บาท หรือประมาณ 1,600-2,000 บาท /เดือน ถือว่าเป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรนอกเหนือจากการทำนาที่ดีพอสมควร
จากที่เริ่มโครงการในปี 2560 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 25 คน จำนวนวัวที่เลี้ยง 100 ตัว จนถึงปี 2562 มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 50 ราย มีโคเนื้อที่เลี้ยงประมาณ 270 ตัว ในแต่ละปีสหกรณ์จะส่งโคขุนกลางน้ำให้ชุมนุมสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีละประมาณ 200 ตัว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท แต่เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อโคขุนคุณภาพดียังมีอีกมาก สหกรณ์นิคมพิชัยพัฒนา จำกัด จึงมีโครงการขยายการเลี้ยงโคขุนเพื่อป้อนให้สหกรณ์ในเครือข่าย โดยตั้งเป้าขยายการเลี้ยงและส่งโคกลางน้ำให้เครือข่ายสหกรณ์โคเนื้อภาคตะวันออกเฉียงเหนือปีละประมาณ 300 ตัว ส่วนหนึ่งสหกรณ์จะเป็นผู้ดำเนินการโดยสร้างโรงเรือนเพิ่มและส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกเลี้ยง
อีกส่วนหนึ่งจะส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงเลี้ยงวัวต้นน้ำเพื่อส่งให้กับสหกรณ์นิคมพิชัยพัฒนา จำกัด นำมาเลี้ยงต่อ ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับสหกรณ์ในเครือข่ายบ้างแล้ว เช่น สหกรณ์การเกษตรวังชิ้น จำกัด จังหวัดแพร่ สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด จังหวัดอุทัยธานี สหกรณ์การเกษตรหนองม่วงไข่ จำกัด จังหวัดแพร่ นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับสหกรณ์ในเครือข่ายถึงการสร้างโคขุนแบรนด์ของสหกรณ์ เพราะปัจจุบันโรงงานแปรรูปของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จะแปรรูปเฉพาะวัวสายพันธุ์เลือดผสมแองกัสกับวากิวเท่านั้น (วัวสีดำ) จึงเห็นพ้องกันว่าจะตั้งชื่อสายพันธุ์วัวที่สหกรณ์เลี้ยงและแปรรูปว่า “พันธุ์เพชรมุกดา” เพื่อให้เป็นแบรนด์ของขบวนการสหกรณ์
นางเทียมใจ บัวเบิก สมาชิกสหกรณ์นิคมพิชัยพัฒนา จำกัด และเลขานุการคณะกรรมการสหกรณ์ ให้ความเห็นว่า ตนและเพื่อนสมาชิกได้รวมกลุ่ม 5 คน เพื่อเลี้ยงวัวจำนวน 20 ตัว โดยทำเรื่องขอกู้เงินจากสหกรณ์ คนละ 3.5 แสน เพื่อมาเป็นทุนในการเลี้ยงโคเนื้อ โดยเลี้ยงในโรงเรือนที่สหกรณ์จัดเตรียมไว้ สมาชิกกลุ่มจะผลัดกันเข้ามาดูแลวัวของกลุ่มวันละ 2 คน แต่ก่อนที่จะเลี้ยงสหกรณ์จะหาผู้เชี่ยวชาญจากกรมปศุสัตว์มาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงและการดูแลสุขภาพของวัว หลังจากทดลองเลี้ยงอยู่ 1 สัปดาห์ จึงให้เริ่มเลี้ยง สมาชิกในกลุ่มจะร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ส่วนเรื่องสุขภาพและโรคเกี่ยวกับวัวสหกรณ์จะเป็นผู้ดูแล หลังจากที่เลี้ยงได้ 4-6 เดือน แล้วนำวัวออกมาขายได้ราคาประมาณกว่า 50,000 บาท/ตัว หลังจากหักหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หมดแล้ว ก็จะมีรายได้เหลือประมาณ 10,000-20,000 บาทเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำนาที่ดีพอสมควร